ส่งต่อ 5 เทคนิคทิ้งเงื่อนงำอย่างแยบยล จนนักอ่านจับไม่ได้จากเจ.เค.โรว์ลิ่ง !

ส่งต่อ 5 เทคนิคทิ้งเงื่อนงำอย่างแยบยล
จนนักอ่านจับไม่ได้ จากเจ.เค.โรว์ลิ่ง

 

หนึ่งในเหตุผลที่เจ.เค.โรว์ลิ่ง ทำให้แฟนๆ คลั่งไคล้แฮร์รี่ พอตเตอร์ นอกเหนือจากตัวละครที่โดดเด่นและโลกเวทมนตร์สุดอัศจรรย์ ความลับที่ซ่อนอยู่ในหนังสือแต่ละเล่มเป็นอีกสิ่งมัดใจคนอ่านได้อยู่หมัด! สิ่งเหล่านี้ทำให้แฟนๆ ต่างค้นหาเรื่องราวและวิเคราะห์ทุกๆ รายละเอียดยิบย่อย เพื่อพยายามคิดว่ามันหมายถึงอะไร

นักอ่านที่อินจนมีส่วนร่วมขนาดนี้คือสิ่งที่นักเขียนทุกคนต้องการใช่มั้ย?

ถ้าใช่ ห้ามพลาดบทความนี้เด็ดขาด เพราะพี่มาชวนทุกคนไขความลับกันว่า นักเขียนคนเก่งอย่างเจ.เค.โรว์ลิ่งใช้วิธีไหนในการทิ้งเบาะแสและซุกซ่อนความลับให้นักอ่านตามหา แน่นอนว่า 5 เทคนิคทิ้งเบาะแสที่นำมาฝากในวันนี้ สามารถใช้ได้กับนักเขียนทุกคน ไม่ว่าคุณจะเขียนแนวไหนก็ตาม! ปังไหมล่ะ?

 

*** SPOILER ALERT ***

มีสปอยล์อยู่ด้านล่าง หากยังไม่ได้อ่านหนังสือ และไม่ต้องการรู้เนื้อเรื่องก่อน ขอแนะนำให้ผ่านบทความนี้ไป แล้วกลับมาอ่านใหม่เมื่ออ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์จบแล้ว!

 

J.K. Rowling 
J.K. Rowling 
(via: https://www.facebook.com/JKRowling)

 

เบี่ยงเบนความสนใจด้วยการกระทำ

วิธีง่ายๆ ในการเบี่ยงเบนความสนใจของนักอ่านจากเบาะแสที่เราทิ้งไว้คือ 

การใช้การกระทำ เพราะการกระทำและการเคลื่อนไหวดึงดูดความสนใจของนักอ่านได้เสมอ

ลองใช้ตัวอย่างจาก ปีเตอร์ เพ็ตติกรูว์, หางหนอน และสแคบเบอร์ (นี่คือความลับที่ซ่อนเร้นครั้งใหญ่ครั้งแรกที่เปิดเผยในซีรีส์) เริ่มต้นด้วยการดูจุดเริ่มต้นของแฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน เมื่อพวกเขาอยู่ในร้านขายสัตว์วิเศษ ที่นี่มีการกล่าวถึงสแคบเบอร์ว่าเคยเป็นหนูของเพอร์ซีย์ พี่ชายของรอนตั้งแต่แรก และอธิบายว่ามันเป็นหนูที่แก่มาก หูแหว่ง และอุ้งเท้ามีนิ้วเท้าที่ขาดหายไป นอกจากนี้ยังกล่าวว่าหนูธรรมดาอย่างสแคบเบอร์ไม่ควรมีชีวิตอยู่ได้นานเกินสามปี

นั่นเป็นสัญญาณแรกที่บ่งบอกว่าสแคบเบอร์ไม่ใช่หนูธรรมดา

จากนั้นเจ้าของร้านก็สงสัยว่ารอนสนใจหนูตัวใหม่หรือไม่ มันบ่งบอกถึงกลุ่มหนูที่มีชีวิตชีวากระโดดไปมา ซึ่งแตกต่างจากสแคบเบอร์ที่เอาแต่เซื่องซึมและแทบไม่ตื่น มันเป็นการส่งสัญญาณมากยิ่งขึ้นว่าสแคบเบอร์ไม่ใช่หนูธรรมดา ตอนนี้ความสนใจของผู้อ่านเริ่มหันมาสนใจสแคบเบอร์ แล้วอาจสงสัยว่าทำไมสแคบเบอร์ถึงไม่เหมือนหนูตัวอื่นๆ และนั่นคือตอนที่การกระทำเข้ามาเบี่ยงเบนความสนใจ!

เจ.เค.โรว์ลิ่งเบี่ยงเบนความสนใจของผู้อ่านจากเบาะแสนี้ โดยให้ครุกแชงก์ แมวของเฮอร์ไมโอนี่กระโดดใส่หัวรอน เพื่อออกไล่ล่าสแคบเบอร์ รอนกับแฮร์รี่รีบตามไปเพื่อช่วยเหลือและตามหาเจ้าหนูน้อย ซึ่งทำให้เราลืมสนใจเบาะแสที่เจ.เค.โรว์ลิ่งวางไว้

เจ.เค.โรว์ลิ่งเริ่มปล่อยเบาะแสเพิ่มเติมเกี่ยวกับความลับของปีเตอร์ เพ็ตติกรูว์, หางหนอน และสแคบเบอร์ อีกครั้ง เมื่อแฮร์รี่ได้ยินครูบางคนพูดคุยเกี่ยวกับการโจมตีเพ็ตติกรูว์ของซีเรียส แบล็ก โดยกล่าวว่า สิ่งเดียวที่เหลือให้ค้นหาคือ ‘นิ้ว’ (บอกใบ้ถึงนิ้วเท้าที่ขาดหายไปของสแคบเบอร์)

เฉพาะนักอ่านที่ใส่ใจมากๆๆ เท่านั้น ที่จะเชื่อมโยงกับจุดต่างๆ ได้เมื่ออ่านคำอธิบายของสแคบเบอร์

นอกจากนี้จุดสนใจส่วนใหญ่อยู่ที่ซีเรียส แบล็กซึ่งเป็นฆาตกรสังหารหมู่ที่ตามล่าแฮร์รี่ด้วย ดังนั้นผู้อ่านส่วนใหญ่อาจจะอ่านเบาะแสเกี่ยวกับนิ้วของเพ็ตติกรูว์แบบผ่านๆ ไม่ได้สนใจอะไรนัก

 

รอน วีสลีย์ ผู้ชอบเล่นมุกขำขัน หนึ่งในการทิ้งเบาะแสอย่างเเยบยลของเจ.เค.โรว์ลิ่ง
รอน วีสลีย์ ผู้ชอบเล่นมุกขำขัน หนึ่งในการทิ้งเบาะแสอย่างเเยบยลของเจ.เค.โรว์ลิ่ง

เบี่ยงเบนความสนใจด้วยมุกตลกและประโยคขบขัน

วิธีที่สนุกที่สุดวิธีหนึ่งในการทิ้งเงื่อนงำอย่างชาญฉลาด คือ วางไว้ในบทสนทนาที่มีเรื่องตลก! 

สิ่งนี้จะดึงความสนใจจากเบาะแสและให้นักอ่านหัวเราะเบาๆ แทน (หวังว่านะ) ตัวอย่างที่ดีอย่างหนึ่งพบได้ในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ เมื่อแฮร์รี่และรอนพูดคุยกันเกี่ยวกับไดอารี่ของ ที.เอ็ม.ริดเดิ้ล (T. M. Riddle’s Diary)

          "ฉันไม่ว่าอะไรด้วยถ้าจะรู้ว่าริดเดิ้ลทำอะไรถึงได้รางวัลประกอบคุณความดีพิเศษให้ฮอกวอตส์"

          "เป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น" รอนว่า "บางทีเขาอาจสอบได้ ว.พ.ร.ส. (วิชาพ่อมดระดับสามัญ) สามสิบวิชา หรือช่วยชีวิตครูจากปลาหมึกยักษ์ หรือเขาอาจฆาตกรรมเมอร์เทิล นั่นก็คงเป็นความดีความชอบต่อทุกคน"
 

บทที่ 13 หน้า 281 หนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ

ในขณะที่รอนกำลังล้อเล่นและนักอ่านอาจจะหัวเราะเบาๆ ด้วยอารมณ์ขันของรอน เพราะพวกเขารู้ว่าว่าเมอร์เทิลน่ารำคาญแค่ไหน! ส่วนสุดท้ายของเรื่องตลกดันเป็นเรื่องจริง แต่เนื่องจากรอนเล่นมุกตลกอย่างเห็นได้ชัด นักอ่านจึงไม่เห็นว่ามันเป็นเบาะแสที่เจ.เค.โรว์ลิ่งทิ้งไว้

นอกจากนี้สิ่งที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับเงื่อนงำนี้คือ มันเป็นทางเลือกที่สามของรอนในรายการความคิดที่บ้าคลั่งมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไร้สาระที่สุดจากมุมมองของรอน นั่นเป็นสาเหตุที่ผู้อ่านไม่ยอมรับว่าสิ่งนี้เป็นเบาะแสที่นักเขียนทิ้งไว้ คิดว่ามันไม่มีอะไรเลย นอกจากคำพูดไร้สาระเท่านั้น

เรื่องตลกอีกอย่างที่รอนทำให้เราไขว้เขวจากเงื่อนงำที่เจ.เค.โรว์ลิ่งวางไว้ คือ หลังจากคลาสป้องกันตัวจากศาสตร์มืดที่เรียนกับบ็อกการ์ต ในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน บ็อกการ์ตปรากฏตัวเป็นพระจันทร์เต็มดวงต่อหน้าศาสตราจารย์ลูปิน เพื่อเผยให้เห็นด้านมนุษย์หมาป่าของเขา! (แม้ว่าจะไม่ได้อธิบายโดยตรงว่าเป็นพระจันทร์เต็มดวง แต่เป็นลูกกลมสีเงินที่ห้อยอยู่ในอากาศและจากนั้นเป็นลูกแก้ว) ในขณะที่นักเรียนกำลังคุยเรื่องบ็อกการ์ต รอนก็พูดติดตลกกับเฮอร์ไมโอนี่

"มันจะเป็นตัวอะไรนะถ้าเจอเธอ" รอนประชด "การบ้านที่ได้คะแนนแค่เก้าเต็มสิบใช่ไหมล่ะ"

 

บทที่ 7 หน้าที่ 172 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน

ซึ่งเรื่องตลกนี้เกิดขึ้นเพราะเจ.เค.โรว์ลิ่งต้องการดึงความสนใจของนักอ่านจากบทสนทนาที่เกี่ยวกับบ็อกการ์ตของลูปิน แม้จะไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าบ็อกการ์ตกลายเป็นพระจันทร์เต็มดวง แต่บางทีโรว์ลิ่งอาจไม่ต้องการให้คำอธิบายของลูกกลมสีเงินที่แขวนอยู่ในอากาศนั้นชัดเจนเกินไป เธอจึงยุติการสนทนาและขโมยความสนใจของผู้อ่านด้วยเรื่องตลกจากรอน

 

ควีเรลล์  อีกหนึ่งเบาะแสที่เจ.เค.โรว์ลิ่งวางไว้
ควีเรลล์  อีกหนึ่งเบาะแสที่เจ.เค.โรว์ลิ่งวางไว้

 

ทิ้งเบาะแสผ่านความฝัน

เทคนิคการทิ้งปมในฝันเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในนิยายทุกวันนี้ 

แต่มันก็เป็นวิธีที่ดีมากที่จะทำเช่นนั้น เพราะพวกเราทุกคนเองก็มีความฝันแปลกๆ ที่บางครั้งก็ไม่สมเหตุสมผลด้วยเหมือนกัน

เจ.เค.โรว์ลิ่งใช้ความฝันของแฮร์รี่เพื่อทิ้งเบาะแสหลายครั้ง ตัวอย่างเช่นบทแรกในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี ซึ่งเป็นความฝันที่เปิดเผยเกี่ยวกับอดีตของโวลเดอมอร์เพิ่มเติม รวมทั้งเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น (เพื่อจับแฮร์รี่ด้วยความช่วยเหลือจากคนรับใช้ที่ไว้ใจได้)

อีกตัวอย่างหนึ่งคือในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ตอนนั้นเมื่อแฮร์รี่เพิ่งมาถึงฮอกวอตส์ คืนแรกนั้นเขามีความฝันที่วางเบาะแสและแสดงความลับที่ซ่อนอยู่ ซึ่งไม่ได้เชื่อมโยงโดยตรงกับเนื้อเรื่องของหนังสือเล่มแรกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงส่วนที่เหลือของซีรีส์ด้วย

          บางทีแฮร์รี่อาจจะกินอาหารมากไปหน่อย เพราะว่าคืนนั้นเขาฝันประหลาด เขาสวมผ้าโพกหัวของศาสตราจารย์ควีเรลล์ ซึ่งเฝ้าพูดกับเขาว่าเขาต้องย้ายไปอยู่บ้านสลิธีรินทันที เพราะว่านี่เป็นชะตาชีวิตของเขา แฮร์รี่บอกผ้าโพกหัวว่าเขาไม่ต้องการอยู่บ้านสลิธีริน แล้วผ้าโพกหัวก็หนักขึ้นๆ ทุกที เขาพยายามดึงมันออก แต่มันกลับรัดหัวแน่นจนปวดไปหมด - - แล้วมัลฟอยก็ปรากฏตัวขึ้น หัวเราะเยาะเขาขณะที่เขาดิ้นรนสู้กับผ้าโพกหัว - - แล้วมัลฟอยก็กลายเป็นครูสเนปจมูกตะขอที่ส่งเสียงหัวเราะแหลมสูงและเย็นยะเยือก มีแสงสีเขียวระเบิดขึ้นแล้วแฮร์รี่ก็สะดุ้งตื่น เหงื่อแตกพลั่ก ๆ เนื้อตัวสั่นเทา

 บทที่ 7 หน้า 159 -160 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์

ผ้าโพกหัวที่พูดได้ของควีเรลล์เป็นการเชื่อมต่อโดยตรงกับโวลเดอมอร์ ซึ่งติดอยู่ที่ด้านหลังศีรษะของเขา ผ้าโพกหัวที่บอกให้แฮร์รี่ย้ายไปสลิธีรินนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับโวลเดอมอร์ที่เป็นนักเรียนสลิธีรินเอง ส่วนประโยคที่บอกว่าสลิธีรินคือโชคชะตาของแฮร์รี่เชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงที่ว่า ส่วนหนึ่งของโวลเดอมอร์อยู่กับแฮร์รี่ ซึ่งจะเปิดเผยในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต 

ความฝันในคืนแรกที่ฮอกวอตส์นี้จึงเป็นการบอกใบ้อย่างละเอียดว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่เพียงแต่ในหนังสือเล่มแรกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาคที่เหลืออีกด้วย

 

ล็อกเก็ตสลิธิริน ที่เจ.เค.โรว์ลิ่ง วางเป็นปมไว้อย่างเเนบเนียน
ล็อกเก็ตสลิธิริน ที่เจ.เค.โรว์ลิ่ง วางเป็นปมไว้อย่างเเนบเนียน

ซ่อนเบาะแสไว้ในสิ่งที่น่าสนใจ

อีกวิธีที่ดีในการซ่อนเบาะแสคือ ทำลิสต์สิ่งที่น่าสนใจมากมาย 

ตัวอย่างที่ดีคือล็อกเก็ตที่ดูเหมือนธรรมดาในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟินิกซ์ ที่อยู่ๆ ดันกลายเป็นฮอร์ครักซ์เฉย

          พวกเขาพบเครื่องมือทำด้วยเงินชิ้นหนึ่งซึ่งหน้าตาไม่น่าดูเลย เป็นเหมือนคีมหนีบที่มีหลายขาคู่หนึ่ง เมื่อแฮร์รี่หยิบมันขึ้นมา มันวิ่งไต่ขึ้นแขนเขาเหมือนแมงมุม และพยายามเจาะลงไปในผิวหนังของเขา ซิเรียสคว้ามันออกมา และฟาดด้วยหนังสือเล่มหนักที่หน้าปกเขียนว่า ความมีภูมิธรรมสูงส่งของธรรมชาติ: วงศ์วานว่านเครือของพ่อมดแม่มด มีหีบดนตรีที่ส่งเสียงกรุ้งกริ้งชั่วร้ายเบาๆ เมื่อถูกไขลาน และทุกคนก็พบว่าตัวเองรู้สึกอ่อนเพลียและง่วงนอนอย่างประหลาด จนกระทั่งจินนี่ได้คิดและกระแทกฝาหีบปิด มีล็อกเกตหนักๆ ที่ไม่มีใครเปิดออกได้สำเร็จ และมีตราประทับโบราณหลายอัน ในกล่องฝุ่นเขรอะกล่องหนึ่งมีเหรียญตราเมอร์ลินชั้นหนึ่ง ที่มอบให้ปู่ของซีเรียสสำหรับ “ความช่วยเหลือต่อกระทรวง”

 

บทที่ 6 หน้า 154 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟินิกซ์

แม้ว่าจะมีการกล่าวถึงความจริงของล็อกเก็ตนี้เป็นครั้งแรกในตอนท้ายของแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม แต่เจ.เค.โรว์ลิ่งได้อธิบายไว้อย่างรอบคอบแล้วในหนังสือเล่มก่อนหน้านี้ สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับเทคนิคนี้คือ เจ.เค.โรว์ลิ่งไม่ได้ระบุล็อกเกตเป็นรายการแรกหรือรายการสุดท้าย ซึ่งตามปกติสิ่งแรกหรือท้าย มักดึงดูดความสนใจของเราได้ดีกว่าอันกลาง

นอกจากนี้ สิ่งที่ยอดเยี่ยมมากเกี่ยวกับเทคนิคนี้ในการซ่อนเงื่อนงำในรายการคือ “เบาะแสหลัก” ซึ่งคนมักจะเมินเฉยกับล็อกเก็ตที่เป็นเบาะแส เพราะมันล้อมรอบด้วยสิ่งของที่น่าสนใจกว่า นักอ่านไม่ค่อยให้ความสนใจกับล็อกเก็ตที่ไม่มีใครสามารถเปิดได้ แต่กลับไปสนใจกล่องดนตรีที่ทำให้ง่วงนอน หรือหนังสือชวนคลั่งไคล้เลือดบริสุทธ์ในมือของซิเรียสมากกว่า

ในการทำลิสต์เบี่ยงเบนความสนใจนักอ่านจากเบาะแส เช็กให้ดีว่าสิ่งอื่นๆ ทั้งหมดในรายการนั้นน่าสนใจกว่าเบาะแสของเรา นี่ไม่ใช่การโกงนักอ่านเพราะมันมีเงื่อนงำอยู่ มันแค่เป็นการวางปริศนาไว้ล่วงหน้า โดยจำเป็นต้องให้ความจริงหรือคำตอบที่ถูกต้องก่อนถึงเวลาที่เหมาะสม

 

ศาสตราจารย์ทรีลอว์นีย์ อาจเป็นเป้าหมายใหญ่ที่สุดสำหรับการถูกทำให้ขายหน้า
ศาสตราจารย์ทรีลอว์นีย์ อาจเป็นเป้าหมายใหญ่ที่สุดสำหรับการถูกทำให้ขายหน้า

ทำให้พยานขาดความน่าเชื่อถือ

การหักหน้า หรือทำให้ตัวละครขาดความน่าเชื่อถือ จัดว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจในการซ่อนเบาะแส

 การหักหน้าทำได้หลายรูปแบบ เช่น เงื่อนงำที่มาจากตัวละครที่มักพูดเรื่อยเปื่อย และไม่มีใครเอาจริงเอาจัง หรือเบาะแสที่มาจากจอมโกหก เป็นต้น

ศาสตราจารย์ทรีลอว์นีย์ อาจเป็นเป้าหมายใหญ่ที่สุดสำหรับการถูกทำให้ขายหน้าในแฮร์รี่ พอตเตอร์ เธอพูดเรื่องไร้สาระมากจนไม่มีใครเชื่อว่าเธอพูดเรื่องจริง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเธอมีภาพลักษณ์แบบนี้และดูน่าอดสูมาตั้งแต่ต้น จึงทำให้มีปมมากมายกระจัดกระจายอยู่ในบทสนทนาของเธอ ซึ่งไม่ได้ดึงดูดความสนใจของนักอ่าน เพราะเราเชื่อว่าเธอพูดไปเรื่อย

ตัวอย่างเช่น ในบทเรียนแรกของแฮร์รี่กับเธอในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน เธอบอกว่าแฮร์รี่มีสัญลักษณ์ของกริมม์อยู่ในถ้วยน้ำชา ซึ่งเป็นลางแห่งความตาย 

 

หน้าต่อมา ศาสตราจารย์มักกอนนากัลสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้กับทรีลอว์นีย์ โดยกล่าวว่าทรีลอว์นี่ย์ได้ทำนายการเสียชีวิตของนักเรียนในทุกๆ ปี ตั้งแต่เริ่มทำงานที่ฮอกวอตส์ แต่มันไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นนักอ่านอย่างเราจึงตัดสินใจไม่เชื่อในสิ่งที่ทรีลอว์นี่ย์พูด

แต่แล้วกริมม์ก็มาถึงจริง มันคือร่างแอนิเมจัสของซิเรียส แบล็ก ขณะที่เรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์จะตายไม่เป็นความจริง (แต่) ทรีลอว์นีย์ถูกต้องว่ากริมม์จะมา และเป็นสัญลักษณ์แห่งความตาย (การตายของซิเรียสเอง)

ดังนั้นการทำให้เทรลอว์นีย์อดสู เจ.เค.โรว์ลิ่งสามารถทิ้งปมมากมายในบทสนทนา เช่น คำทำนายเกี่ยวกับแฮร์รี่และโวลเดอมอร์ เพราะเจ.เค.โรว์ลิ่งรู้ว่านักอ่านจะไม่เชื่อในสิ่งที่เธอพูด ไงล่ะ เฉียบแหลมสุดๆ เลยใช่มั้ย?

 

**********

 

การทิ้งเบาะแสและความลับในเรื่องอย่างแนบเนียน เป็นวิธีที่ดีในการเพิ่มความลึกลับและล้ำลึกให้กับงานเขียนของเรา การทิ้งเบาะแสไม่ใช่เทคนิคการเขียนสำหรับนิยายแนวลึกลับ ระทึกขวัญและเรื่องราวอาชญากรรมเท่านั้น แต่เรายังสามารถใช้เทคนิคนี้กับเรื่องราวแนวใดก็ได้ที่เราต้องการเพิ่มแง่มุมของความลึกลับให้กับเรื่อง ลองหยิบเทคนิคที่ได้ในวันนี้จากเจ.เค.โรว์ลิ่งไปใช้ รับรองปังแน่ ใครใช้แล้วเอามาอวดพี่ด้วยนะ จะรอ ^ ^

 

พี่น้ำผึ้ง :)

ขอบคุณรูปภาพจากภาพยนตร์
พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น