เพียง 10 นาที! ร่างพล็อตเสร็จเขียนนิยายต่อได้เลย

 

มีใครกำลังอยากเขียนนิยายอยู่ไหมเอ่ย? 

ช่วงนี้คนรอบตัวพี่แนนนี่เพนหันมาเขียนนิยายกันเยอะมากๆ ส่วนใหญ่ก็ผันตัวมาจากการเป็นนักอ่านทั้งนั้นเลยค่ะ บางคนอ่านนิยายจบแต่จินตนาการยังอยู่ก็มาเขียนนิยายของตัวเอง บางคนขัดใจตัวละคร ขัดใจเรื่องราวในนิยาย สุดท้ายก็มาเขียนนิยายเองซะเลย แต่ถ้าใครอยากเขียนนิยายไปให้ตลอดรอดฝั่ง เขียนไปจนถึงตอนจบได้ พี่แนนนี่เพนมีวิธีร่างพล็อตเรื่องเจ๋งๆ มาฝากกันค่ะ ใช้เวลาไม่นาน อ่านบทความนี้จบกลับไปร่างพล็อตเขียนนิยายต่อได้ทันทีเลย ว่าแล้วก็ไปดูกันเลยว่าต้องทำยังไงบ้าง! 

ทำไมต้องวาพล็อตก่อนเขียนจริง?

พล็อตเป็นลำดับเหตุการณ์ที่ทำให้เรื่องราวของเราเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปได้  ถ้าเราอยากเขียนนิยายที่ทำให้นักอ่านอยากกดตอนต่อไปมากกว่ากดปิด ให้เริ่มจากการเอาไอเดียของเรา มาตอบคำถามสองข้อนี้ให้ได้ก่อนค่ะ

  • พล็อตดำเนินเรื่องแบบไหน? 
  • ธีมเรื่องคืออะไร?

อันดับแรก  พล็อตเรื่องหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในนิยายของเราเป็นอย่างไร?  เช่น ตัวละคร A ถูกคนร้ายทำลายครอบครัวตั้งแต่เด็ก ทำให้เขากลายเป็นเด็กกำพร้า เมื่อโตขึ้นมาเขาทำงานเป็นตำรวจเพื่อตามหาเบาะแสคนร้าย จนเจอร่องรอยที่ตามหามานาน และพบว่าพ่อของภรรยาเป็นคนร้ายที่ทำลายชีวิตครอบครัวเขา  เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับธีมเรื่องที่เราอยากนำเสนอด้วยเหมือนกัน 

เมื่อเรามีพล็อตที่ต้องการเล่าแล้ว มาดูกันว่า ธีมเรื่อง แก่นเรื่อง  หรือสาระที่เป็นประเด็นหลักของนิยายที่เรากำลังจะเขียนคืออะไร?  เราต้องหาให้เจอว่าเรากำลังจะสื่ออะไรออกมา และต้องไม่นำเสนอเฉพาะตอนใดตอนหนึ่งเท่านั้น แต่แสดงให้เห็นผ่านเรื่องราวทั้งหมด  เช่น 

จากพล็อตที่ยกตัวอย่างมา เราสามารถดกำหนดธีมเรื่องได้เลยว่า จะให้ตัวละคร A ให้อภัยหรือแก้แค้นพ่อภรรยา  สมมติว่าเลือกให้อภัย เช่น ตัวละคร A รักภรรยามาก เพราะเธอเป็นคนเดียวที่ทำให้เขาได้สัมผัสกับชีวิตครอบครัวในวัยเด็ก อาจจะเน้นไปที่ชีวิตความรักของตัวละคร A จากเดิมที่มีเป้าหมายแก้แค้น เขาสามารถให้อภัยได้เพราะความรัก และอาจจะเพิ่มบทลงโทษให้พ่อภรรยาได้รับกรรมตามสนองไป เป็นต้น 

จะเห็นว่าธีมเรื่องนั้นสร้างได้หลากหลายแนวทางมาก แต่การมีธีมเรื่องเพียงหนึ่งเดียวจะทำให้นิยายแข็งแกร่งมากกว่า เพราะธีมเรื่องช่วยให้ความคิดของเราชัดเจน ไม่กระจัดกระจาย และเป็นกรอบในการดำเนินเรื่องได้นั่นเองค่ะ

via : unsplash.com
via : unsplash.com

มาทำให้พล็อตชัดเจนขึ้นกัน!

ไอเดียที่เราคิดอาจจะดีอยู่แล้ว แต่จะดีกว่าไหมถ้าทำให้พล็อตของเราแข็งแกร่งขึ้นด้วยแนวเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ 

1. พล็อตแนวผจญภัย : พาตัวละครไปยังสถานที่ใหม่ ๆ ลองทำสิ่งใหม่ ๆ และเผชิญกับอุปสรรคจำนวนมาก เช่น Harry Potter, The Chronicles of Narnia

2. พล็อตแนวตัวละครเติบโต : ตัวละครได้เจอบางสิ่งบางอย่างที่แปลงความคิด และตัวตน เช่น Alice’s Adventures in Wonderland, The Lord of the Rings

3. พล็อตแนวโรแมนติก : เรื่องราวความรัก ความสุข ความสมหวัง ความผิดหวัง และความหึงหวง  ที่ทำให้คู่รักต้องปรับความเข้าใจกัน เช่น Titanic, Water for Elephants

4. พล็อตแนวเอาตัวรอด : ตัวละครเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยุ่งยาก และต้องเอาชนะศัตรู หรือหลบหนีจากอันตรายที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน เช่น indiana Jones, To Kill a Mockingbird

5. พล็อตแนวสิ่งล่อลวง : ตัวละครเติบโตจากการค้นพบสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับตัวเอง เขาต้องตัดสินใจว่าจะยอมแพ้ แก้แค้น โกรธ หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น A Christmas Carol, The Scarlet Letter, Of Mice and Men

6. พล็อตแนวแข่งขัน : ตัวละครไล่ล่าตามหาความมั่งคั่งหรือชื่อเสียง แต่ต้องเอาชนะผู้อื่นเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ตัวอย่าง: The Great Gatsby,  Charlie and the Chocolate Factory

7. พล็อตแนวฮีโร่ : ตัวละครธรรมดาเสียสละเพื่อช่วยเหลือคนอื่น  เช่น To Kill a Mockingbird, The Odyssey

เมื่อดูแนวเรื่องพื้นฐานเหล่านี้แล้วพอจะนึกภาพนิยายของเราออกบ้างไหมคะ  ถ้าเราลองหยิบไอเดียของเรามาเขียน คิดว่าเรื่องราวของเราน่าจะคล้ายคลึงกับเส้นเรื่องแบบไหนมากที่สุด  ตรงนี้น่าจะพอเป็นแนวทางให้ทุกคนได้คิดกันบ้างแล้วว่า เรื่องราวของเราแข็งแกร่งพอที่จะทำให้นักอ่านอยู่กับเราไปจนจบเรื่องได้หรือไม่?

via : unsplash.com
via : unsplash.com

ร่างพล็อตตามสไตล์ Dean Koontz

ดีน คุนตซ์ (Dean Koontz) เป็นนักเขียนชาวอเมริกัน ที่มีผลงานนิยายมากกว่า 100 เรื่อง เขาเขียนนิยายแนวระทึกขวัญ สยองขวัญ แฟนตาซี และอื่นๆ อีกมากมาย แนวคิดในการสร้างพล็อตคร่าวๆ ของเขานั้นน่าสนใจมากค่ะ เพราะไม่ว่าเราจะเป็นสายวางพล็อตหรือสายด้นสด ถ้าเราลองทำตามวิธีนี้ดูได้  พล็อตนิยายของเราจะชัดเจนขึ้นแน่นอน 

1. ทำให้ตัวละครหลักเจออุปสรรคเร็วที่สุด : ไม่่ว่าพล็อตนิยาย แนวเรื่อง ธีมเรื่องของเราจะเป็นแบบไหนก็ตาม สิ่งที่เราต้องคิดถึงเป็นอันดับแรกไม่ใช่การคิดว่าจะเปิดเรื่องยังไงให้น่าติดตาม แต่เป็นการคิดว่าจะทำยังไงให้ตัวละครของเราเจออุปสรรคร้ายแรงโดยเร็วที่สุด  เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจะช่วยให้คนอ่านตัดสินใจได้ว่า จะตามตัวละครเหล่านี้ไปหาคำตอบ หรือหยุดอยู่แค่นี้ดีกว่า 

ตัวอย่าง  

  • แนวระทึกขวัญ อุปสรรคที่ตัวละครเจออาจเป็นสถานการณ์ชีวิตหรือเกี่ยวข้องกับความเป็นความตาย  ทำให้ต้องดิ้นรนเพื่อหาทางรอด
  • แนวโรแมนติก หญิงสาวคนหนึ่งต้องตัดสินใจเลือกคู่แต่งงานจากชายหนุ่มที่มีคุณสมบัติเท่าเทียมกัน หลังจากนั้นทางเลือกของเธอก็เผยให้เห็นหายนะ
  • แนวเกิดใหม่ ตัวละครเกิดใหม่ในร่างของคนอื่น อุปสรรคที่เขาเจอคือ ความยากจน  เขาจึงต้องหาวิธีเอาตัวรอดให้ได้

2. ตัวละครพยายามแก้ปัญหาแต่เรื่องราวกลับแย่ลง : ตัวละครต้องไม่สามารถผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปได้ง่ายๆ  ค่ะ สถานการณ์ที่เราคิดขึ้นมาเพื่อทำให้ตัวละครเจอเหตุการณ์สิ้นหวังต้องมีเหตุผล ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ และหลังจากนั้นทำให้สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเลวร้ายลงเรื่อยๆ  ให้ได้

3. ตัวละครสิ้นหวังที่สุด : ถ้าเราดำเนินเรื่องมาถึงช่วงเวลาที่ตัวละครยากลำบากที่สุดแล้ว แม้แต่เราเองก็อาจจะคิดว่าต้องเขียนให้ตัวละครของเราออกจากปัญหาเหล่านี้ได้ยังไง  แปลว่าเรามาถูกทางแล้วค่ะ 

4. ตัวละครเรียนรู้ที่จะประสบความสำเร็จ : ได้เวลาพาตัวละครออกมามีความสุขแล้วค่ะ  อย่าลืมให้รางวัลตัวละครของเราด้วยสิ่งที่เขาปรารถนาที่สุดนะคะ

 

สรุปแนวทางการร่างพล็อต ฉบับเร่งด่วน

My Plot (ตัวอย่าง)

ร่างพล็อตส่วนที่ 1 

  • ไอเดียที่อยากเขียนคืออะไร?
    อยากเขียนพล็อตแนวตัวเอกเป็นคนเดียวที่ไม่ได้เกิดใหม่ 
     
  • พล็อตดำเนินเรื่องแบบไหน? 
    ตัวเอกเจอเหตุการณ์แปลกประหลาดรอบตัวบ่อยๆ จนบังเอิญรู้ว่าตัวเองอยู่ในโลกนิยายเรื่องหนึ่ง และคนรอบข้าง หรือคนใกล้ชิด ได้มาเกิดใหม่บนโลกนี้อีกครั้ง  เขาจึงค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น  เพราะคนที่มาเกิดใหม่ล้วนหลอกใช้เขาทุกคน  ตัวเอกค่อยๆ กำจัดคนเกิดใหม่ไปทีละคน แต่เส้นเรื่องในนิยายก็ยังดำเนินเหมือนเดิม  สุดท้ายตัวเอกจะแก้ไขปัญหานี้ยังไง?.... ยังนึกไม่ออก
     
  • ธีมเรื่องคืออะไร?
    ตัวเอกได้ใช้ชีวิตในแบบที่ไม่ต้องถูกใครกำหนด
     
  • ประเภทนิยายที่ใกล้เคียง?
    แนวแฟนตาซี ผสมเซอร์ไวเวิลเอาตัวรอด (มั้ง)

ร่างพล็อตส่วนที่ 2

  1. ทำให้ตัวละครหลักเจออุปสรรคเร็วที่สุด :   ตัวเอกรู้ว่าตัวเองอยู่ในโลกนิยาย จากการบังเอิญได้ยินเพื่อนสนิทพูดถึงตัวเอง และแผนการต่างๆ ที่จะหลอกใช้เขาในอนาคต
     
  2. ตัวละครพยายามแก้ปัญหาแต่เรื่องราวกลับแย่ลง :  ตัวเอกเปลี่ยนแปลงตัวเองจากคนที่ใช้ชีวิตสงบสุขไปวันๆ เริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากขึ้น พยายามแก้ไข หาทางออกของปัญหาในอนาคตจะที่เกิดขึ้น  แต่เรื่องราวก็มักจะดำเนินไปตามนิยายเสมอ ถึงเขาจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับใคร แต่ปัญหาก็วิ่งมาหาเขาเสมอ
     
  3. ตัวละครสิ้นหวังที่สุด :  ตัวละครถูกหักหลังจากคนที่ไม่คาดคิด ชีวิต ฐานะ ธุรกิจ ทรัพย์สินเงินทอง เริ่มไม่มั่นคงจากแผนร้ายของใครบางคน หรือศัตรูที่มองไม่เห็นเริ่มเคลื่อนไหวออกมา 
     
  4. ตัวละครเรียนรู้ที่จะประสบความสำเร็จ :  ตัวละครได้รับการช่วยเหลือจาก....และดำเนินหน้าแก้ไขสิ่งต่างๆ ด้วยความมุ่งมั่น เป็นตัวของตัวเอง ทำลายศัตรูด้วยความฉลาดของตัวเอง 
     

เป็นยังไงกันบ้าง? ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ  
ลองเอาไอเดียของเรามาร่างพล็อตตามนี้ 
แล้วมุ่งหน้าเขียนนิยายของเรากันเลย!
 

เริ่มเขียนนิยาย

พี่แนนนี่เพน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://jerryjenkins.com/story-structures/
http://storyfix.com/you-can-master-classic-story-structure-a-guest-post-by-jerry-b-jenkinshttps://blog.karenwoodward.org/2013/01/dean-koontz-and-5-things-every-genre.html
พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น