เด็กวรรณคดีเล่นใหญ่ ก่อตั้ง “หลวยสูสำนักพิมพ์”
เชิญนักเขียนดังร่วมเขียนนิยายเป็นโปรเจกต์จบ!
สวัสดีค่ะ ชาวเด็กดีทุกคน พบปะพูดคุยวันนี้พี่แนนนี่เพนจะพาทุกคนไปรู้จักกับ “หลวยสูสำนักพิมพ์” สำนักพิมพ์เฉพาะกิจที่ก่อตั้งโดยน้องๆ นิสิตปี 4 ภาควิชาวรรณคดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เปิดตัวนิยายเรื่องแรกของสำนักพิมพ์ได้ยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างสุดๆ
เพราะผลงานนิยายเรื่อง “Love or Leave ไปต่อหรือพอแค่นี้” ที่รวมเรื่องรักหลากอารมณ์จากนักเขียนนิยายรักชื่อดัง อย่าง ติญญา, เอกวีย์, ภาพิมล และ ใบสน เป็นหนึ่งในโปรเจกต์จบรายวิชาที่ให้้น้องๆ ได้ฝึกทำงานบรรณาธิการกันจริงๆ ซึ่งงานนี้ น้องๆ ได้ชวนนักเขียนมืออาชีพมาร่วมงานด้วย เลยขอทุ่มกันสุดตัว ไม่ได้เอก็จะไม่นอนกันเลยทีเดียว!
เห็นน้องๆ ตั้งใจทำงานส่งอาจารย์ แถมยังเล่นใหญ่กันขนาดนี้ พี่ก็อยากจะชวนพวกเขามาร่วมแบ่งปันไอเดีย แชร์เบื้องหลังการทำงานบรรณาธิการให้ทุกคนได้เห็นกันหน่อยว่าเป็นอย่างไร ทำไมถึงตัดสินใจชวนนักเขียนทั้งสี่คนนี้มาเขียนนิยายร่วมกัน แล้วระหว่างทำงานมีเรื่องวุ่นๆ ของบรรณาธิการมือใหม่กับนักเขียนมืออาชีพ บ้างไหม
วันนี้พี่เลยชวนน้องๆ ตัวแทนหมู่บ้านทั้ง 4 คน ที่ดูแลงานบรรณาธิการของนักเขียนแต่ละคน มาร่วมพูดคุย และแชร์ประสบการณ์การงานบรรณาธิการกันแบบถึงพริกถึงขิงกันเลย!
01
กว่าจะเป็น ‘หลวยสูสำนักพิมพ์’
‘หลวยสูสำนักพิมพ์’ มาจากการรวมตัวกันของเด็กวรรณคดี ไทย 6 คน ที่เรียนวิชาวัฒนธรรมหนังสือและบรรณาธิการกิจศึกษาร่วมกัน วิชานี้เรียนเกี่ยวกับงานบรรณาธิการต่างๆ และมีโปรเจกต์จบเป็นการทำหนังสือขึ้นมา 1 เล่ม ไม่จำกัดไอเดียที่อยากทำ
“พวกเราเป็นนิสิตปี 4 ภาควิชาวรรณคดี สาขาวิชาวรรณคดีไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครับ ซึ่งปี 4 เทอมสุดท้าย เราเรียนวิชาวัฒนธรรมหนังสือและบรรณาธิการกิจศึกษาครับ เป็นวิชาที่ฝึกงานบรรณาธิการ ฝึกการทำหนังสือด้วยกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่ออกแบบหนังสือที่อยากทำ จัดหาต้นฉบับ ตรวจทาน แก้ไข จนขั้นตอนการพิมพ์เลยครับ”
“แต่ละกลุ่มต้องเลือกทำหนังสือที่ตัวเองอยากทำมากลุ่มละ 1 เล่ม หนังสืออะไรก็ได้ แนวไหนก็ได้ จะบันเทิงคดี สารคดี ได้หมด จะทำหนังสือเล่ม หนังสือออนไลน์ เว็บไซต์ หรือนิตยสาร ทำได้หมดเลยครับ”
“ทีนี้พวกเรา 6 คน เป็นสายบันเทิงคดี
ชอบนิยาย มากกว่าทำหนังสือ non-fiction
หลวยสูสำนักพิมพ์ ก็เลยถือกำเนิดมาด้วยเหตุนี้ครับ”
“ส่วนชื่อ หลวยสูสำนักพิมพ์ มาจากชื่อกลุ่มของพวกเราครับ ได้ตอนทำรายงานเรื่องภาษาลู หลวยสู แปลว่า สวย ครับ เลยเอามาเป็นสโลแกนของเราว่า สวยงามทุกตัวอักษร ซึ่งมันตรงกับงานนิยายที่เราต้องการทำพอดี คือ เราอยากทำนิยายรักที่ร่วมสมัย ตอบโจทย์นักอ่านผู้หญิงยุคใหม่ครับ แต่ผู้ชายก็ยังอ่านได้ และสนุกกับมันได้”
02
ชวนนักเขียนนิยายรักชื่อดัง
มาเขียนนิยายรักเป็นโปรเจกต์จบ
“เป็นงานที่ทะเยอทะยานดีค่ะ”
นี่คือคำพูดของอาจารย์หลังจากน้องๆ พรีเซนต์งานที่อยากทำให้อาจารย์ได้พิจารณา ซึ่ง ‘ออม พิชามญชุ์ คงวิจิตต์’ หนึ่งในกองบรรณการก็ได้เล่าถึงแนวคิดของธีมนิยายที่พวกเขาคิดและนำไปเสนออาจารย์มาว่า
“ธีมตอนแรกคิดกันไว้เยอะมากค่ะ ทั้ง 6 คนสนใจธีม เนื้อเรื่องที่แตกต่างไป มีแนวพีเรียด ฆาตกรรม แนวสะท้อนสังคม เยอะแยะเลยค่ะ สุดท้ายจบลงด้วยการเลือกธีมคู่ขนาน เพราะเรามักจะคุ้นเคยกับนิยายแบบน่ารักๆ หวานซึ้ง จบลงด้วยฉากแต่งงาน เลยกลายเป็นคอนเซ็ปต์ว่า อ้าว ถ้าหากคู่รักไม่ใช่คู่ที่เหมือนกันล่ะ แต่เขาแตกต่างกันมาก เขาจะมีอุปสรรคอะไรบ้าง ต้องฟันฝ่าอะไรบ้าง”
ซึ่ง ‘บาส จักรี ปานสมัย’ หรือ ‘อุ้มสม’ นักรีวิวนิยายที่ทำบล็อกและเพจรีวิวนิยายมานาน เขาเป็นหนึ่งในบรรณาธิการของหลวยสูสำนักพิมพ์ และเป็นผู้จุดประกายไอเดียสร้างสรรค์ต่างๆ ในแวดวงวรรณกรรมมาแล้วมากมาย ก็ได้เล่าให้เราฟังถึงที่มาของการชวนนักเขียนมาร่วมงานในครั้งนี้เอาไว้ด้วย
“ถ้าแรกในแรกเลย คือไปแบบยังไม่มีธีม ไม่มีไอเดียอะครับ ไปคุยคร่าวๆ ว่า ชวนพี่มาช่วยโปรเจกต์จบน้องหน่อย อะไรแบบนี้ ซึ่งติญญากับเอกวีย์ คือ 2 คนที่ตอบรับเลยตอนที่เรายังไม่ได้ธีม แบบว่างเปล่าเลยครับ ส่วนภาพิมล กับใบสน จะเป็นตอนที่เคาะธีมเรียบร้อยแล้วครับ ซึ่งกว่าจะได้ธีมนี้ ก็คิดกันมานานมากกก”
“คือพี่ทั้ง 4 คน เป็นนักเขียนผู้ใหญ่ที่เข้าใจพวกเรา และสนับสนุนพวกเราทุกเรื่องเลยครับ การที่เด็กรุ่นใหม่ได้ทำงานกับผู้ใหญ่แบบนี้ มันเติมไฟพวกเราจริงๆ นะ”
“พอได้ธีม 4 คู่ตรงข้ามมา เราก็ให้นักเขียนแต่ละคนเลือกคู่ที่ตนสนใจเลยครับ ฟ้ากับดิน หวานกับขม น้ำกับไฟ พระอาทิตย์กับพระจันทร์ ซึ่งนักเขียนทั้ง 4 คนที่เราชวนมาเป็นนักเขียนนิยายรักหมดเลยครับ แต่ว่างานของแต่ละคนจะคนละแบบ คนละสไตล์กันเลย พี่ๆ นักเขียนทั้ง 4 คนเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของนิยายเล่มนี้จริงๆ และตรงกับคอนเซปต์ที่พวกเราวางไว้”
- ติญญา - จะเขียนเรื่องรักโรแมนติกแบบหน่วง ๆ บีบคั้น ซึมลึก (แบบที่มีนักอ่านเรียกว่าสะเทือนซาง)
- เอกวีย์ - จะเขียนเรื่องรักที่หวานซึ้ง ตัวละครเป็นผู้ใหญ่ มีวุฒิภาวะ เล่าเรื่องความรักไปพร้อมกับการทำงาน
- ภาพิมล - จะเขียนดราม่าแบบเอกลักษณ์เฉพาะ เจ็บจี๊ดในใจ กล้าเขียนตัวละครที่กล้าจะแหกกฎ หรือแหวกขนบพระนางในอุดมคติ
- ใบสน - จะชอบเขียนเรื่องของตัวละครร้าย ๆ ออกแนวขบถเหมือนกัน แถมมีลีลาการเล่าเรื่อง สำนวนเฉพาะตัวอีก
“พอความต่างทั้ง 4 มาเจอกันแล้วมันลงตัวครับ มันเป็นความหลากหลายที่ไม่สะเปะสะปะ มีเรื่องราวที่สวยงามทุกตัวอักษร ทุกชีวิต ทุกบทตอน ทุกตัวละคร อย่างที่เราตั้งใจไว้จริง ๆ ครับ อย่างสโนแกน สวยงามทุกตัวอักษร มันก็เกิดจากความคิดที่ว่า ทุกคน ทุกเรื่องราว มีความงามเป็นของตัวเอง ทั้งนั้นครับ”
03
แบ่งงานบรรณาธิการเล่ม
ได้ดูแลนักเขียนจากเรื่องที่ตัวเองชอบ
น้องๆ เล่าต่อว่า หลังจากเตรียมงาน แจ้งธีมเรื่องให้พี่ๆ นักเขียนทราบกันเรียบร้อยแล้ว ทุกคนจะได้อ่านพล็อตที่พี่ๆ นักเขียนส่งมาก่อน จากนั้นค่อยมาเลือกเรื่องที่แต่ละคนสนใจและอยากทำ เรามาดูกันว่าแต่ละคนได้ดูแลพี่ๆ นักเขียนคนไหน แล้วทำงานกันยังไงบ้าง

ออสการ์ จักรพรรดิ วิริยะโพธิการ บรรณาธิการเรื่อง Night & Day คู่ฟ้าเคียงดิน โดย ติญญา
“ออสการ์ เป็นบรรณาธิการเล่ม เรื่องแรกของซีรีส์เลยครับ ดูแลเรื่อง Night & Day คู่ฟ้าเคียงดิน ของพี่อติน ติญญาครับ พี่ตินใจดีครับเป็นกันเองมากๆ พยายามบอกตลอดว่ามีอะไรก็บอกได้เลย พอได้เรื่องมาแล้วก็ติดต่อพี่ติน ไลน์กัน ปรึกษาพี่เขาตลอดครับ เพราะออสการ์ก็มือใหม่มาก คอยถามพี่ตินอยู่เรื่อยๆ ครับ จริงๆ การเป็นบก. เราสามารถที่จะปรับแก้ตั้งแต่พล็อตเลยใช่ไหมครับ แต่ครั้งแรกเราก็ไม่กล้าแก้อะไรของนักเขียน (บอกตามตรง) แต่เรื่องของพี่ตินที่เขียนมาเป็นต้นฉบับที่ชอบนะครับ อ่านแล้วก็รักทุกตัวละครเลยครับ”
“สำหรับงานบก. พอได้มาทำจริงๆ เป็นงานละเอียดมากๆ ครับ พี่ตินแนะนำเรื่องการแก้ไขงานครับว่าเป็นไปได้น่าจะทำไปพร้อมๆ กับนักเขียนได้เลย โดยเฉพาะนิยายเรื่องนี้เป็นซีรีส์ ต้องดูความต่อเนื่องของฉากและเหตุการณ์ตลอดทั้ง 4 เรื่อง จำได้ว่าชื่อขนมของพระเอกในเรื่อง Moon & Sun คู่ขวัญ...จากจันทร์ถึงอาทิตย์ ที่ชอบเป็นร้านของนางเอกในเรื่องของพี่ติน เราก็ต้องดูว่าตรงกันไหม ซึ่งต้องดูอย่างละเอียดจริงๆ ครับ ยิ่งตอนพูดกันบทสนทนาของตัวละครยิ่งสำคัญครับ การพูดคุยกับนักเขียนบ่อยๆ ก็เป็นเรืองสำคัญครับ เพื่อจะทำให้งานของเราออกมาดีตามกำลังของเราให้มากที่สุด”

บาส จักรี ปานสมัย บรรณาธิการเรื่อง Bitter & Sweet คู่รัก ณ เส้นขนาน โดย เอกวีย์
“ของบาส รับผิดชอบเรื่อง Bitter & Sweet คู่รัก ณ เส้นขนาน ของพี่ปุ้ม เอกวีย์ครับ เรื่องนี้เป็นธีมหวานขม ที่หวานล้ำและขมขื่นจริง ๆ ครับ ค่อนข้างจะดราม่าหนักที่สุดในชุดเลย แล้วก็น่าจะยาวสุดด้วย (จากการอ่านพล็อต) สายดราม่าอย่างบาสเลยรับหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ครับ”
“ที่บาสรับดูแลเรื่องของพี่ปุ้ม ก็จะดูเรื่องจังหวะการเล่าเรื่องครับ ว่าตรงนี้โอเคหรือยัง ตรงนี้ดราม่าพอไหม ตรงนี้เข้มข้นหรือเปล่า ตรงนี้หวานพอหรือยัง หรือตรงนี้มันดูฝืน ๆ หรือประดักประเดิดไหม คือดูการเล่าเรื่องให้มันไหลลื่นขึ้นครับ แล้วก็ดูเรื่องภาษา การเล่าเรื่องต่าง ๆ ตรงนี้ขยี้พอไหม ตรงนี้บิ้วด์อีกนิดดีรึป่าว พอพี่ปุ้มถามอะไรมา เช่น ตอนจบตรงนี้ดีไหม ช่วงก่อนจบเป็นยังไงดี บทนำเอาซีนไหนดี เพลงที่แต่งเองเวิร์กไหม บาสก็จะคอยช่วยคิด ช่วยแนะนำครับ”
“อ้อ เรื่องการตั้งชื่อเรื่อง ก็มีส่วนช่วยคิดครับ เพราะเราวางโจทย์ไว้ว่าทั้ง 4 เรื่อง ต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า คู่__ โปรยปกหน้า ปกหลัง ก็ได้เขียนกันเอง คือทำงานนี้แล้วฝึกอะไรที่ไม่เคยทำเยอะมากกกก”

ตังเม กุลภรณ์ แสงสกุลกานต์ บรรณาธิการเรื่อง Water & Fire คู่ร้อน...ซ่อนเร้น โดย ภาพิมล
“ของตังเม ได้เรื่อง Water & Fire คู่ร้อน...ซ่อนเร้น ของพี่แพรว (ภาพิมล) ค่ะ เป็นเรื่องที่บางที่สุดในกลุ่ม และนางเอกแซ่บที่สุดในกลุ่มเช่นกัน เป็นเรื่องราวคู่ตรงข้ามระหว่างไฟกับน้ำ ที่นางเอกอารมณ์ร้อนเหมือนไฟ ในขณะที่พระเอกใจเย็นเป็นสายน้ำเสมอ จนมีปัญหาในการทำความเข้าใจกันค่า ”
“ต้องบอกเลยว่าตังเมโชคดีมากๆ พี่แพรวส่งต้นฉบับเร็วมากๆ ทำให้มีเวลาให้ต้นฉบับพอตัวค่ะ สิ่งแรกที่ตังเมทำ คือ เช็คข้อมูลค่ะ ด้วยความที่ตังเมเรียนวิชาโฆษณาเป็นวิชาเสรี จึงมีโอกาสเอาข้อมูลอาชีพของนางเอกไปปรึกษาอาจารย์เยอะมากๆ ค่ะ จนได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน ต่อมาคือดูความลื่นไหลของการเล่าเรื่องค่ะ ดูว่านักเขียนกังวลตรงไหน แล้วช่วยเสริมเพิ่มเติมตรงจุดที่กังวลค่ะ”
“ส่วนตัว ตังเมเองก็แอบกดดันเรื่องนั้นพอสมควรเลยค่ะ อีกฝ่ายเป็นนักเขียนอาชีพ เราเป็นบก.สมัครเล่น พี่เขาก็จะแบบ “น้องว่าแบบนี้ดีไหมคะ" “ขอรบกวนเพิ่มตรงนี้นิดนึงได้ไหมคะ แต่ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรค่า” แต่ด้วยความเฟรนลี่ของพี่ๆ+การทำงานจริงจัง เราเลยเริ่มเข้าใจว่า การที่เราบอกว่า ”ไม่ได้ไม่เป็นไร” มันไม่ได้นะ ทุกคนตั้งใจ และเราต้องแสดงความตั้งใจให้พี่เขาเห็น เลยค่อยๆ ปรับเป็น “ถ้าตรงไหนไม่โอเค คุยกันได้ค่ะ”
ออม พิชามญชุ์ คงวิจิตต์ บรรณาธิการเรื่อง Moon & Sun คู่ขวัญ...จากจันทร์ถึงอาทิตย์ โดย ใบสน

“เริ่มแรกบก.ทั้ง 4 คนจะอ่านพล็อตที่พี่ๆ นักเขียนทั้ง 4 คนส่งมาให้อ่านก่อนค่ะ หลังจากนั้นเลือกเรื่องที่ตนเองชื่นชอบ อย่างออมสนใจ Moon & Sun คู่ขวัญ...จากจันทร์ถึงอาทิตย์ ของพี่ใบสนตั้งแต่แรกเลยค่ะ สะดุดตาสะดุดใจมาก แค่อ่านพล็อตก็รู้สึกอินแล้วค่ะ ดีใจมากๆ ที่ได้เป็นบก.ของเล่มนี้ หลังจากนั้นก็รอนักเขียนส่งมาค่ะ ทุกอย่างคือกระชั้นชิดมา พอพี่นักเขียนส่งเนื้อเรื่องมาครบแล้ว ก็เตรียม edit กันแบบหน้าตั้งค่ะ”
“บก.ทั้ง 4 คนไปนอนอยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกันหลายวันหลายคืนมาก แล้วบก. ไม่ใช่แค่ edit เท่านั้น แต่ยังมีการเขียนคำนำบก. เขียนปกหน้า ปกหลัง คือมีรายละเอียดยิบย่อยที่บก. มือใหม่ อย่างออมยังต้องศึกษาอีกมากค่ะ โชคดีที่มีเพื่อน ๆ บก.ที่คอยช่วยเหลือเยอะมาก ส่วนตัวออมไม่เคยได้ทำงานนี้ได้ แล้วเป็นครั้งแรกที่ทำ มีส่วนที่ติดขัด อุปสรรคหลายๆอย่าง จนต้องนั่งคลุมโปง กุมขมัดหลายวันมาก โชคดีที่มีเพื่อนที่เก่งและเคยทำงานเกี่ยวกับบก.มาก่อน (นั่นคือจักรี) รวมทั้งออสการ์ ตังเมที่ช่วยให้ออมคิดงานออกมาได้ค่ะ อีกทั้งนักเขียน พี่ใบสน แนะนำออมหลายๆ เรื่อง ให้กำลังใจ ทำให้จากที่ออมกดดันกับงานมากๆ ก็คลายลงค่ะ จริงๆ กำลังใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ค่ะ”
“พี่ใบสนน่ารักมากค่ะ นอกจากการให้กำลังใจ คำแนะนำหลังไมค์แล้ว พี่ใบสนใจก็จะคอยแท็ก ขอบคุณบก. เสมอ ในคำนำนักเขียนพี่ใบสนก็ยังเขียนถึงเรา ประทับใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้อยากสร้างผลงานต่อๆ ไปค่ะ”
04
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงาน
คือการได้ลงมือทำจริงๆ
“ตอนแรก เรารู้กันดีครับว่าหลักสูตรภาควิชาวรรณคดี ไม่มีฝึกงาน เราไม่จำเป็นต้องใช้เวลาช่วงปิดเทอมในการหาที่ฝึกงาน แต่พอมาเรียนวิชานี้ ....โอ้วววว นี่แหละครับ มันคือการฝึกงานที่แท้ทรู!” - บาส จักรี ปานสมัย
“ที่ผ่านมา 4 ปี 7 เทอม ก่อนหน้านี้ เรามักจะได้เรียนในวิชาที่อยู่กับหนังสือ อยู่กับตัวบทวรรณคดี ดำดิ่ง และวิเคราะห์วิจารณ์ในมุมมองที่หลากหลาย ซึ่งมันช่วยให้เรามองโลก หรืออ่านหลายสิ่งอย่างบนโลกนี้ได้แหลมคมมากขึ้นมาก ๆ”
“พอมาปี 4 เทอม 2 มันเหมือนเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมากๆ อะครับ เราได้เอาความรู้ที่มี เอาประสบการณ์ที่ได้รับจากอาจารย์ตลอดมา มาสร้างสรรค์ผ่านการทำหนังสือออกมาแบบนี้”
“อาจารย์กฤตยา ณ หนองคาย (ผู้ประสานงานในรายวิชานี้) ช่วยพวกเราเยอะมากกกครับ ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ และที่สำคัญคือเปิดโอกาส และให้กำลังใจครับ อาจารย์ไม่ขัดและยินดีสนับสนุนมาก ๆ ตอนที่พวกเราเล่นใหญ่กันแบบนี้”
05
หลวยสูสำนักพิมพ์
ฝากโปรเจกต์จบถึงชาวเด็กดีทุกคน
ขอฝากชาวเด็กดีทุกคนด้วยนะคะ สำหรับโปรเจกต์ “Love or Leave ไปต่อหรือพอแค่นี้” ปรากฏหารณ์ใหม่สุดปัง การรวมตัวครั้งแรกของนักเขียน 4 คน 4 เรื่องรักหลากอารมณ์ที่ทั้งหวานซึ้ง แซ่บร้อน เปียกปอนหัวใจ ของคู่รักคู่ขวัญที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง
ผลงานซีรีส์ “Love or Leave ไปต่อหรือพอแค่นี้” เป็นอีกผลงานหนึ่งที่รวบรวมนักเขียนคุณภาพสรรค์สร้างตัวละครและเรื่องราวที่จะทำให้ชาวเด็กดีทุกคนประทับใจอย่างแน่นอนครับ เรื่องราวของคู่ตรงข้ามที่แตกต่างกันจะลงเอยอย่างไร รอคอยให้นักอ่านเด็กดีมาเปิดอ่านไปด้วยกันนะครับ
พวกเราตั้งใจทำงานกันอย่างเต็มที่สุดความสามารถ พี่ๆ นักเขียนทุกคนก็ตั้งใจกันมากๆ ครับ อย่าลืมไปติดตามและอุดหนุนกันได้นะครับ สำหรับคนที่อยากได้เล่มเก็บไว้ ตอนนี้ก็ยังเปิดพรีอยู่นะครับ ทางเพจอุ้มสม : หลวยสูสำนักพิมพ์ ได้ในราคาพิเศษ ติดตามเพจเพื่อรับข่าวสารและผลงานดีๆ จากักเขียนและเรื่องราวคุณภาพจากพวกเรานะครับ นอกจากนี้ก็ขอฝากติดตาม “หลวยสูสำนักพิมพ์” ในโปรเจกต์หน้าด้วยนะครับ
กว่าจะเป็น ‘หลวยสูสำนักพิมพ์’ ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ เพราะน้องๆ กลุ่มนี้ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันเสนอไอเดียที่ชอบและอยากทำจริงๆ ออกมาก่อน พอรู้ว่าชอบอ่านนิยายเหมือนกัน ถึงเริ่มเกิดเป็นโปรเจกต์นิยายรักสุดปังที่ได้พี่ๆ นักเขียนมาร่วมเขียนนิยายให้ปังยิ่งขึ้นไปอีก!
ใครที่อยากลองอ่านนิยายในโปรเจกต์นี้ ไม่ต้องลังเลค่ะ คลิกเข้าไปอ่านกันได้เลย คุณภาพแน่นๆ ของจริง เพราะเห็นแค่ชื่อนักเขียนก็การันตีฝีมือได้แล้วนะ ยิ่งได้เห็นเบื้องหลังการทำงานของน้องๆ บรรณาธิการมือใหม่เหล่านี้ ที่ทำงานกันอย่างตั้งใจสุดๆ ก็ยิ่งทำให้อยากเข้าไปลองอ่านนิยายในโปรเจกต์ “Love or Leave ไปต่อหรือพอแค่นี้” นี้สุดๆ ว่าแล้วก็ไปติดตามผลงานของน้องๆ ได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้เลย!
อ่านนิยายพี่แนนนี่เพน
1 ความคิดเห็น
น้องๆ เก่งกันมากเลยค่ะ ที่คิดและทำโปรเจคต์นี้ขึ้นมา
อาจารย์ก็น่ารักมากค่ะช่วยสนับสนุนน้องๆ