How To ทำหนังสือขายเองฉบับไม่ง้อสำนักพิมพ์
(แต่เหนื่อยมาก)
สวัสดีค่ะชาวนักเขียนเด็กดีทุกคน พี่น้ำผึ้งเชื่อว่าความฝันของบรรดานักเขียนทั้งหลาย คือการเห็นนิยายของตัวเองเป็นรูปเล่ม ลองคิดดูสิว่ามันจะดีแค่ไหนที่เราได้เห็นเรื่องราวในจินตนาการของเรา โลดแล่นอยู่บนแผ่นกระดาษอย่างแท้จริง และเราไม่ใช่ข้อห้ามสำหรับสิ่งนี้ เพราะทุกคนสามารถมีหนังสือเป็นเล่มได้ แม้ว่าจะไม่ได้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ก็ตาม!
ในวันนี้พี่มาแบ่งปันประสบการณ์การทำหนังสือทำมือด้วยตัวเอง ใครที่ฝันอยากมีหนังสือเป็นเล่มกรุบกริบ และไม่อยากรอสำนักพิมพ์อีกต่อไป ห้ามพลาด สิ่งที่ต้องเตรียมมีแค่ เงิน + ใจ ล้วนๆ เพราะงานนี้ นอกจากจะต้องรับความเสี่ยงให้ได้ ยังต้องทุ่มสุดตัว และมันเหนื่อยมากกกกกกกกกก ขอบอก
ความแตกต่างระหว่าง ‘หนังสือทำมือ’ และ ‘ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์’
ทำไมเราถึงตีพิมพ์หนังสือด้วยตัวเอง ในเมื่อมีสำนักพิมพ์ที่ทำทุ่มเททำหนังสือให้เรา? จริงๆ มันมีหลายสาเหตุนะ แต่การทำหนังสือทำมืออิสระกว่า และเราเป็นคนจัดการสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากสำนักพิมพ์ ด้านล่างนี้คือตารางเปรียบเทียบระหว่างการตีพิมพ์ด้วยตัวเองและตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์
สิ่งที่ได้ | ตีพิมพ์ด้วยตัวเอง | ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ |
ควบคุมผลลัพธ์ของหนังสือตัวเองแต่เพียงผู้เดียว | Yes | X |
ลิขสิทธิ์หนังสือเป็นของตัวเองแต่เพียงผู้เดียว | Yes | X |
ควบคุมเรื่องราว | Yes | X |
ควบคุมปก | Yes | X |
ได้ค่าลิขสิทธิ์ 100% | Yes | X |
มีบรรณาธิการ หรือคนร่วมออกความเห็นวิจารณ์ | X | Yes |
จัดหาคนพิสูจน์อักษร | X | Yes |
จัดหานักออกแบบปก Artwork จัดหน้า | X | Yes |
การตลาด | X | Yes |
เดดไลน์ | X | Yes |
เตรียมเงินเท่าไหร่สำหรับการทำหนังสือ?
ว่าบาป เรื่องนี้สำคัญที่สุดแล้วล่ะ ถ้าไม่มีเงินทุน เราก็จะไม่สามารถตีพิมพ์หนังสือด้วยตัวเองได้ (ทำให้การตีพิมพ์สำนักพิมพ์เป็นอะไรที่ง่ายกว่า) โดยราคาในการจัดพิมพ์หนังสือจะแตกต่างกันอย่างมาก ขึ้นอยู่กับความยาวของหนังสือ, ต้นทุนการผลิตและราคาขายปลีกที่เรากำหนด ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องเตรียมพร้อมเมื่อต้องจ่ายเงิน ควรอนุมานล่วงหน้าว่าใช้เงินจำนวนเท่าใดในการจัดพิมพ์หนังสือด้วยตนเอง ซึ่งมีปัจจัยหลายข้อที่กำหนดค่าใช้จ่ายในการทำหนังสือทำมือ ไม่ว่าจะเป็น
- ความยาวของหนังสือ (ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการพิมพ์)
- การจ้างพิสูจน์อักษรและบรรณาธิการเพื่อแก้ไขหนังสือ
- การจ้างจัดหน้าหนังสือ
- การออกแบบปกหนังสือ
- โฆษณา / สื่อส่งเสริมการขายใดๆ ที่ต้องการใช้
- ค่าขนส่ง ค่าเหนื่อย ค่าอุปกรณ์แพ็กของ
- ค่าลิขสิทธิ์
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อาจโผล่มาระหว่างทาง เช่น ของแจกลูกค้า
เมื่อได้ข้อมูลครบแล้ว เงินพร้อม ใจพร้อม เรามาเริ่มต้นทำหนังสือกัน!
#1 – ตอบคำถามกับตัวเองให้ได้ว่าทำไมต้องอยากทำหนังสือเป็นเล่ม?
สิ่งที่เราต้องตัดสินใจเป็นอันดับแรกเมื่อจัดพิมพ์หนังสือด้วยตนเองคือ ทำไมเราถึงต้องการเขียนหนังสือ?
พี่ขอแนะนำให้ตอบคำถามข้อนี้ให้ได้ เนื่องจากเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าเรามุ่งมั่นในการเขียนหนังสือ 100% (และทำด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง) นี่เป็นก้าวสำคัญถ้าหากว่าเราอยากมีหนังสือเป็นของตัวเอง ลองตอบคำถามด้านล่างนี้เพื่อช่วยให้ตัดสินใจว่า ทำไมเราถึงต้องการจัดพิมพ์หนังสือ
- คุณเป็นผู้ประกอบการหรือนักแปลอิสระที่มีธุรกิจใหม่ ที่พยายามแข่งขันด้วยการตีพิมพ์หนังสือหรือไม่?
- คุณต้องการยกระดับทักษะและความรู้ของคุณ เพื่อเป็นวิทยากรหรือโค้ชที่ได้รับค่าตอบแทนหรือไม่?
- คุณมีธุรกิจที่มีชื่อเสียงและต้องการเขียนหนังสือเพื่อกระจายการสร้างรายได้หรือไม่?
- หรือคุณมีเรื่องราวที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว และต้องการสร้างเนื้อหาที่จะแบ่งปันความรู้และทักษะที่คุณได้รับจากประสบการณ์หลายสิบปี?
- คุณมีไอเดียในการเขียนหนังสือและเริ่มเขียนทันทีหรือไม่?
แผนลงมือทำ:
หาเหตุผลที่ถูกต้องอย่างน้อย 10 ข้อ ว่าทำไมถึงอยากเขียนหนังสือ ใช้คำถามข้างต้นเป็นแนวทางเริ่มต้นในการระดมความคิดกับตัวเอง
#2 – เขียนนิยาย!
ขั้นตอนนี้สำคัญพอๆ กับต้นทุน ถ้านิยายไม่จบ เราก็ไม่สามารถตีพิมพ์ได้ หากเราเคยพยายามที่จะเริ่มเขียนหนังสือ เราอาจมีช่วงเวลาที่จ้องหน้าเปล่าเป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยไม่มีอะไรจะเขียน รู้สึกผิดหวัง หงุดหงิด หันไปผัดวันประกันพรุ่งและไม่ทำอะไรเลย
นี่เป็นเรื่องปกติ การเขียนหนังสือเป็นงานหนัก!
ในการเริ่มเขียนิยาย เราต้องพัฒนากระบวนการเขียน และนี่คือวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเขียนนิยาย ที่ควรค่าแก่การทำหนังสือทำมือ
- ซื้อปฏิทิน วิธีที่ดีที่สุดในการทำให้หนังสือของเราสมบูรณ์ คือการมีปฏิทินที่กำหนดเป้าหมายของเราต่อวัน / สัปดาห์
- สร้างโครงร่าง (outline) โครงร่างเปรียบเสมือนแผนที่คอยบอกทิศทางเรื่องราวของเรา ช่วยให้เราติดตามและมั่นใจได้ว่าไอเดียของเราจะกลายเป็นเรื่องที่สมบูรณ์
- พัฒนานิสัยการเขียน ปรับสภาพตัวเองให้เขียนในเวลาเดียวกันทุกวัน ด้วยการฝึกฝนนี้จะกลายเป็นนิสัยที่จะทำให้การเขียนนิยายเป็นไปโดยอัตโนมัติในไม่ช้า
- หาคนช่วยสนับสนุน คนเหล่านี้จะคอยผลักดันให้เราเขียนนิยายเสร็จตามเวลา
- สร้างสภาพแวดล้อมการเขียนของเรา ลองดูซิว่าเขียนที่ไหนได้ไหลลื่นและสงบมากที่สุด หรือบริเวณไหนทำให้หัวของเราโล่ง ปลอดโปร่ง ไม่มีสิ่งรบกวน
แผนลงมือทำ: เขียน เขียน และเขียน!
#3 – ได้ฟีดแบ็คก่อนตีพิมพ์หนังสือจริง
ในพาร์ทนี้จะอยู่ในส่วนของการรีไรต์และการปรับปรุงงานเขียนของเราให้ดีขึ้น รู้มั้ย กว่าพี่จะได้นิยายเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด แก้ร่างแรกไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง!
เมื่อเขียนหนังสือ สิ่งสำคัญคือต้องได้รับคำติชมให้มากที่สุดในกระบวนการนี้ (โดยเร็วที่สุดด้วยนะ) เพราะมันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความคิดเห็นเหล่านี้เพื่อปรับปรุงการเขียนของเราให้ดีขึ้น
เคล็ดลับการเขียนอาจมาจากทุกที่ และสิ่งที่ดีที่สุดมักมาจากผู้ที่อ่านหนังสือของเราเป็นครั้งแรก
ไม่เพียงแต่สายตาคู่ใหม่จะช่วยจับจับผิดคำผิด การเรียบเรียงประโยคหรือใช้ไวยากรณ์ได้ แต่มุมมองใหม่ๆ ยังช่วยให้เรามีแนวคิดในการกระชับเรื่องราวและทำให้ธีมเรื่องชัดเจนยิ่งขึ้น
แผนลงมือทำ:
- เราอาจจะจ้างบรรณาธิการอิสระและนักพิสูจน์อักษรมืออาชีพได้ ซึ่งค่าจ้างจะอยู่ประมาณ 5,000 - 20,000 บาท ระยะเวลาการทำงานจะอยู่ที่ 3.5 สัปดาห์หรือน้อยกว่านั้น
- หรือถ้าใครมีเพื่อนเทพๆ หน่อย ติดต่อเพื่อนสัก 2-3 คนที่สามารถให้ข้อเสนอแนะที่ดี (ควรเป็นกลาง) และถามพวกเขาว่า ยินดีที่จะอ่านนิยายเราสัก 1-2 บท (หรือทั้งเล่ม!) เมื่อเราเขียนเสร็จ ถ้าพวกเขายินดีล่ะก็...เตรียมรับฟีดแบ็คได้เลย!
#4 – ออกแบบหนังสือกัน
สเต็ปถัดมาคือออกแบบหนังสือของเราให้ปังปุริเย่ ขั้นตอนหลักในกระบวนการออกแบบหนังสือมี 2 ขั้นตอน ได้แก่ การออกแบบภายในและการออกแบบปกหนังสือ
การออกแบบภายใน
การออกแบบภายในอาจฟังดูไม่น่าตื่นเต้นที่สุดในกระบวนการออกแบบ แต่มันจำเป็นต้องทำเพื่อสร้างหนังสืออย่างมืออาชีพ เราเรียกมันว่าการจัดหน้านั่นแหละ ด้วยการเปลี่ยนเนื้อหา A4 ให้อยู่ในรูปแบบ A5 ขนาด 148 x 210 mm จะใช้ Microsoft Word หรือ Adobe InDesign ได้ตามแต่สะดวก
ตรงนี้พี่ใช้วิธีจ้างนักออกแบบเพราะลองทำเองแล้ว ล้มเหลวไม่เป็นท่า (ว่าบาป พี่ลองจัดหน้าด้วยตัวเองตั้งร้อยกว่าหน้าแล้ว แต่ไม่เวิร์คเลย) มันมีรายละเอียดยิบย่อยค่อนข้างเยอะ เช่น ระยะห่างขอบหนังสือ หรือการเว้นบรรทัด การตัดตก เป็นต้น ในส่วนค่าจ้างจัดหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 2,500 - 5,000 บาท ไม่รวมพิสูจน์อักษร
แต่ถ้าใครอยากทำเอง พี่นำข้อมูลมาเสิร์ฟให้น้องๆ แล้ว ลองอ่านดูได้ที่ [สาระ?] How to หนังสือทำมือ...
การออกแบบปกหนังสือ
เมื่อพูดถึงนิยาย ปกสวยๆ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่จะทำให้หนังสือของเราขายได้! เหตุผลก็คือ ปกหนังสือเป็นสิ่งที่ผู้อ่านเห็นอย่างแรก และพวกเขาจะตัดสินได้ทันทีว่าจะซื้อหนังสือหรือไม่ เห็นแบบนี้แล้ว ตอนพี่โปรโมตหนังสือตัวเองเป็นครั้งแรก หลายคนโดนตกเพราะปกหนังสือเลยนะ ดังนั้นให้ความสำคัญกับปกเยอะๆ
แล้วปกหนังสือที่ดีคืออะไร?
ปกที่เห็นแล้วบอกเรื่องราวได้ทันที!
เราควรออกแบบให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายของเรา
หากนิยายของเราธีมรักหวานแหววสดใส
จะให้ปกนิยายออกแนวมืดมนเกินไปก็ไม่สมเหตุสมผล
ในกรณีที่เราวาดรูปไม่เป็น เราสามารถใช้บริการนักวาดในดวงใจได้ค่ะ ลองสอบถามค่า commission จากนักวาดท่านนั้นๆ ซึ่งแต่ละคนจะมีเรตราคาที่แตกต่างกันไป
หน้าที่ของนักเขียนคือบรีฟปกกับนักวาดให้ดีๆ ถึงรูปที่เราต้องการ ปกจะได้ออกมาตรงใจเราที่สุด นอกจากนี้อย่าลืมเรื่องจัด Artwork ของปกหน้า/ปกหลังด้วย นักวาดบางท่านรับจัดอาร์ตเวิร์กให้เลย ส่วนบางท่านไม่ เพราะงั้นถ้าไม่ได้บอกนักวาดให้จัดอาร์ตเวิร์ก เราก็ต้องมาทำเองค่ะ
หรือเราอาจลองค้นหานักออกแบบปกหนังสือได้ในเว็บไซต์ฟรีแลนซ์ต่างๆ เช่น
(เว็บต่างประเทศ)
(เว็บไทย)
ราคาจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของบริการที่เราต้องการ แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปแน่นอน ในส่วนของการส่งไฟล์ภาพเข้าโรงพิมพ์ ไม่ว่าจะใช้ Photoshop หรือ Illustrator ให้กำหนดความละเอียดภาพ (Resolution) ที่ 300 dpi เลือกโหมดสี CMYK อันนี้สำคัญนะ ไม่งั้นสีเพี้ยนแน่ๆ
แผนลงมือทำ:
ค้นหานักวาดหรือนักออกแบบหนังสือ และหนังสือของเราจะโดดเด่นกว่าใครเพื่อน!
#5 – Book Metadata
เดี๋ยวก่อนพี่น้ำผึ้ง...อะไรคือ Book Metadata แล้วมันสำคัญยังไง?
จริงๆ แล้ว Book Metadata คือข้อมูลทั้งหมดที่อธิบายหนังสือของเรา รวมถึงชื่อเรื่อง คำบรรยาย ราคา ขนาด ชื่อผู้แต่ง คำอธิบายหนังสือ และอื่นๆ เราจะแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
ชื่อเรื่อง
ในความเป็นจริง เราไม่ควรตัดสินใจเลือกชื่อหนังสือจนกว่าจะเขียนร่างแรกเสร็จแล้ว เนื่องจากการเลือกชื่อหนังสือก่อนมักจะส่งผลให้เรา “จนมุม” เพราะเราจะพยายามอย่างหนักในการจัดเรียงเรื่องราวให้ตรงกับชื่อหนังสือ แทนที่จะเขียนสิ่งที่ต้องเขียน
อย่าทำให้เรื่องนี้ซับซ้อนเกินความจำเป็น
กุญแจสำคัญในการเลือกชื่อที่สมบูรณ์แบบคือ ยิ่งชื่อเรื่องง่ายเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น
ในขณะที่กำลังระดมความคิด อย่าลืมทำให้มันเรียบง่าย
ชื่อเรื่องควรชัดเจนว่า นักอ่านจะได้รับอะไรจากการอ่านหนังสือของเรา เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สิ่งที่ชัดเจนหรือการรับประกันผลลัพธ์จะทำให้นักอ่านรู้สึกสนใจมากขึ้น เช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน ทำให้เรารู้ว่าเป็นเรื่องของแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษที่หนีออกมาจากคุกอัซาคาบัน เป็นต้น
ลองใช้หลักการ PINC โดยมิคาเอล ไฮเอตต์ ด้านล่างนี้ดูได้ค่ะ
- P - Promise (ให้คำมั่นสัญญา): บอกให้นักอ่านรู้ว่าจะได้รับอะไรจากการอ่านหนังสือของเรา
- I – Intrigue (วางกลอุบาย): ดึงดูดผู้อ่านให้หยิบหนังสือของเรา
- N – Need (ระบุความต้องการ): บอกให้รู้เลยว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร หรือหากหนังสือของเรามีคำตอบของปัญหาทั่วไป ให้ระบุไปเลย
- C – Content (ระบุเนื้อหา): ทำให้เรียบง่ายและตรงไปตรงมา หนังสือของเราเกี่ยวกับอะไร?
คำถามที่ควรพิจารณาเมื่อสร้างชื่อเรื่องให้น่าจดจำมีดังนี้
- ชื่อของคุณจะสอนทักษะที่มีความต้องการสูงหรือไม่?
- ชื่อของคุณมีผลต่อชีวิตของใครบางคนหรือไม่?
- หนังสือของคุณสามารถแก้ปัญหาที่ยากมากได้หรือไม่?
- มันสั้นพอที่จะอ่านในภาพขนาดย่อเมื่อลงเว็บหรือไม่?
- มันทำให้เกิดการตอบสนองทางอารมณ์หรือไม่?
แผนลงมือทำ:
เมื่อได้ชื่อเรื่องแล้ว ลองถามเพื่อน ครอบครัว หรือทำโพลว่าพวกเขาต้องการชื่อหนังสืออะไร นอกจากนี้ยังสามารถถามเพื่อนนักเขียนได้ด้วยว่าชื่อเรื่องแบบนี้เป็นยังไง
คำอธิบายหนังสือ
หน้าปกหนังสือดึงดูดผู้อ่านให้หยิบนิยายของเรา ชื่อเรื่องและคำอธิบายหนังสือจะเป็นตัวปิดการขาย แล้วเราจะเขียนคำอธิบายหนังสือที่ดีได้อย่างไรล่ะ?
- ทำให้ง่ายและตรงไปตรงมา
- มุ่งเป้าไปที่ 150-200 คำ
- ใช้ตัวแบ่งย่อหน้า ตัวหนาและตัวเอียงเพื่อเน้นเมื่อจำเป็น
- ใส่สัญลักษณ์แสดงหัวข้อย่อย (ถ้ามี)
- หลีกเลี่ยงภาษาที่อ่อนไหว เช่น เร็วๆ นี้
เคล็ดลับอีกอย่างในการเขียนคำอธิบายคือ
ค้นหาบทวิจารณ์ของนักอ่านสำหรับหนังสือที่คล้ายกับของเรา พวกเขาใช้ภาษาอะไร?
ให้คำอธิบายเกี่ยวกับหนังสือที่คล้ายกันช่วยแนะนำเรา
ในขณะที่เราเขียนหนังสือของตัวเอง
สิ่งสำคัญที่ต้องจำคือ คำอธิบายของเราเป็นมากกว่าข้อความบนปกหลังของหนังสือ มันควรเป็นข้อความที่บ่งบอกถึงรายละเอียดและสื่อความหมายชัดเจน ซึ่งเราจะใช้ในการทำการตลาด เราต้องทำให้คำอธิบายดึงดูดคนที่หยิบมันขึ้นมาจากชั้นวางในร้านหนังสือ รวมถึงอัลกอริทึมการค้นหาของ Google คีย์เวิร์ดในคำอธิบายมีผลต่อการค้นพบหนังสือของเราทางออนไลน์ ดังนั้นอย่าลืมคำนึงถึงคีย์เวิร์ดในขณะที่เขียน และรวมไว้ในคำอธิบายเมื่อมันเป็นธรรมชาติและเหมาะสม
แผนลงมือทำ:
เมื่อได้ชื่อเรื่องแล้ว ลองถามเพื่อน ครอบครัว หรือทำโพลว่าพวกเขาต้องการชื่อหนังสืออะไร นอกจากนี้ยังสามารถถามเพื่อนนักเขียนได้ด้วยว่าชื่อเรื่องแบบนี้เป็นยังไง
ISBN
ส่วนสุดท้ายสำหรับ Book Metadata คือเจ้า ISBN นี่แหละ ISBN ย่อมาจาก International Standard Book Number เป็นหมายเลขประจำตัวที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่นเดียวกับหมายเลขผลิตภัณฑ์ที่เราสามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ซื้อ เช่น ซีเรียลกล่องหนึ่ง หรือรองเท้าคู่หนึ่ง
จำเป็นมั้ยที่ต้องมี ISBN?
เราต้องมี ISBN หากต้องการให้หนังสือของเราวางจำหน่ายในร้านหนังสือ หรือร้านค้าปลีกออนไลน์ Ebook หรือผู้ค้าส่ง เราควรมีสิ่งนี้ก่อนที่นักออกแบบหนังสือจะเริ่มทำปกและจัดอาร์ตเวิร์ก เพื่อจะได้ทำเป็นบาร์โค้ดลงบนปกหลังหนังสือ
ในกรณีที่หนังสือของเราหนาเกินไปหากเป็น 1 เล่ม และเราต้องการแบ่งเป็น 2 เล่มจบ เราสามารถขอ ISBN แค่อันเดียวได้ โดยไม่ต้องขอ 2 เล่ม (นับเป็น 1 เรื่อง) พี่แนะนำให้เรานับจำนวนหน้าที่แน่นอนแล้ว แล้วค่อยไปขอ ISBN กรุบกริบตามเว็บไซต์ระบบจดแจ้งการพิมพ์ / ISSN / ISBN / CIP สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร อย่าลืมเตรียมข้อมูลเหล่านี้ให้พร้อมด้วย
- หน้าปก และ หน้าปกใน (Cover and Title page)
- หน้าลิขสิทธิ์* และ สารบัญ (Copyright and Content page)
- เรื่องย่อ (Abstract)
ส่วนระยะเวลาในการได้ ISBN ถ้าข้อมูลครบถ้วน 1-2 วันก็ได้แล้วจ้า ไม่นานเลย
แผนลงมือทำ: เริ่มขอ ISBN เลย!
#6 – ส่งเข้าโรงพิมพ์
ก่อนจะส่งหนังสือเข้าโรงพิมพ์ ต้องตามหาโรงพิมพ์ที่ใช่ในราคาที่เราสามารถจ่ายไหว สิ่งหนึ่งที่พี่อยากให้ท่องไว้คือ “ยิ่งสั่งพิมพ์เยอะ ราคายิ่งถูกมากขึ้น” เพราะงั้นยิ่งพิมพ์จำนวนเยอะๆ ต้นทุนหนังสือต่อเล่มก็จะถูกลงมากๆ โดยการพิมพ์หนังสือแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ
- Print On Demand การพิมพ์งานตามจำนวนที่ต้องการใช้งานจริง ไม่มีขั้นต่ำในการพิมพ์ จะพิมพ์แค่หนึ่งชิ้นหรือมากกว่านั้นก็ได้
- Offset Printing หากต้องการพิมพ์หนังสือจำนวนเยอะๆ เช่น 1,000 เล่มเป็นต้นไป มักใช้การพิมพ์รูปแบบนี้
เมื่อได้จำนวนเล่มที่แน่นอน ค่อยส่งรายละเอียดให้ทางโรงพิมพ์เพื่อประเมินราคาก่อน โดยส่งรายละเอียดตามนี้
- ประเภทหนังสือ
- ขนาดรูปเล่ม
- เนื้อในพิมพ์สีกี่หน้า / ขาวดำกี่หน้า
- ปกพิมพ์สีกี่หน้า
- เข้าเล่ม
- จำนวนพิมพ์
เช่น
- หนังสือนิยายขนาด : A5
- ปก : กระดาษอาร์ตการ์ด 260 แกรม
พิมพ์ 4 สี 1 ด้าน (ปกหน้าและปกหลัง) เคลือบเงา
- เนื้อใน : กระดาษถนอมสายตา 75 แกรม พิมพ์ขาวดำ 550 หน้า
และพิมพ์รองปก 4 สี 4 หน้า
- เข้าเล่ม : ไสกาว
- จำนวนพิมพ์ : 500 เล่ม
ลองค้นหาโรงพิมพ์ที่น่าสนใจ ด้านล่างนี้คือโรงพิมพ์ที่นักเขียนหลายคนเลือกใช้ เช่น
แผนลงมือทำ: ลองสอบถามราคาจากโรงพิมพ์เพื่อประกอบการตัดสินใจในการพิมพ์หนังสือ
#7 – ตั้งราคาหนังสือ
การตัดสินใจที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการทำหนังสือทำมือคือการกำหนดราคา คำถามที่พบบ่อยที่สุดจากนักเขียนหน้าใหม่คือ “หนังสือของฉันควรมีราคาเท่าไหร่?”
และนี่คือวิธีตั้งราคาในแบบของพี่: คำนวณต้นทุนทั้งหมดที่จ่ายไป ตั้งแต่ค่าโรงพิมพ์ ค่านักวาด ค่าจัดหน้า ค่าของแถม ค่าอุปกรณ์แพ็กของ ค่าเหนื่อย ค่าลิขสิทธิ์ ค่ายิงแอดโปรโมตใดๆ รวมมาให้หมด แล้วคูณกำไร (เปอร์เซนต์) ที่เราต้องการอีกที
เช่น ผลิตหนังสือ 500 เล่ม มีต้นทุนค่าโรงพิมพ์ ค่านักวาด ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์ใดๆ อยู่ที่ 150,000 บาท ค่าใช้จ่ายการตลาดอยู่ที่ 20,000 บาท ค่าลิขสิทธิ์ที่ให้ตัวเองอยู่ที่ 30,000 บาท แปลว่า ต้นทุนจริงๆ ของหนังสือเล่มนี้คือ
150,000 + 30,000 + 20,000 = 200,000 หรือเท่ากับ 400 บาท/ชิ้น
หากอยากได้กำไรต่อชิ้นเท่ากับ 30% เราอาจจะตั้งราคาอยู่ที่
(ราคาต่อชิ้น x กำไรที่ต้องการ%) + ราคาต่อชิ้น = ราคาที่ได้
(400x30%) + 400 = 520 บาท
แต่ช้าก่อน! ถ้าเราคิดว่าขายราคาเท่านี้แล้วจะได้กำไรล่ะก็ อาจไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องเท่าไหร่นัก เพราะเรายังต้องคำนวณปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น ค่าฝากขายหนังสือในร้านหนังสือ, ค่าฝากขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Shopee, Lazada หรือการตั้งราคาเผื่อลดราคา 30% เป็นต้น
เช่น ถ้าร้านค้าที่เราฝากขาย คิดค่าบริการเพิ่ม 30% เราต้องตั้งราคาสินค้าอยู่ที่
(520x30%) + 520 = 676 บาท
หรือถ้าตั้งราคาเผื่อลดราคา 30% ก็ต้องเป็น (676x30%) + 676 = 879 บาท เป็นต้น
ซึ่งราคานี้ก็คือราคาขายสุทธิที่แท้จริงที่ลูกค้าจะซื้อนิยายของเรา โดยเราไม่ขาดทุน
อย่ากังวลว่าราคาหนังสือของเราจะแพงเกินไปจนคนไม่ซื้อ ถ้าสินค้าของเราดีจริง ยังไงคนก็ซื้อ เชื่อเถอะ
แผนลงมือทำ:
ค้นหาราคาที่สมบูรณ์แบบโดยใช้กลยุทธ์นี้เพื่อดึงดูดนักอ่านของเรา และผลักดันให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว
#8 – โปรโมตให้ปังปุริเย่
เมื่อได้ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการโปรโมตหนังสือของเรา บางคนมีฐานนักอ่านอยู่แล้วก็ดีหน่อย บางคนอยากขยายฐานผู้ซื้อ ก็จำเป็นจะต้องหาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นการยิงโฆษณาใน Facebook, การโปรโมตลงบนโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ เช่น Instagram, Twitter หรือจะลองซื้อแบนเนอร์แอดกับทางเด็กดีก็ได้ ว่าบาป อันนี้ก็ปังปุริเย่เหมือนกันนะ นั่งดูยอดขายขึ้นรัวๆ คุ้มค่ากับที่จ่ายไป เคยมีคนทำรีวิวไว้ในบอร์ดอยู่ อ่านได้ : [รีวิววิธีโปรโมทนิยาย] ขี้เกียจคิดวิธีโปรโมทแล้ว ใช้เงินแก้ปัญหาเลยก็แล้วกัน ส่วนใครสนใจซื้อแอดก็ติดต่อไปที่นี่เลย poy@dek-d.com
แผนลงมือทำ: ศึกษาเรื่องการโฆษณาและลงมือโปรโมตนิยายของตัวเองเลย
#9 – ฉลอง!
หลังจากเหน็ดเหนื่อยกับการทำหนังสือ เมื่อเราบรรลุผลแล้ว สิ่งสำคัญคือการให้รางวัลตัวเอง! จะเป็นชาบู หนังสือเล่มใหม่ เล่นเกม นอนดูซีรี่ส์ ทำได้เลย ให้รางวัลตัวเองให้คุ้มกับความเหนื่อยที่ได้ทุ่มเทไป เราเองก็คู่ควรกับของขวัญนะคะ จะได้มีกำลังใจและแรงผลักดันในการทำเล่มถัดๆ ไป ^ ^
……………
ตอนนี้ทุกคนได้ How To ทำหนังสือทำมือฉบับละเอียดมากๆๆ เรียบร้อยแล้ว ถึงเวลาลงมือทำและพาตัวเองเข้าใกล้เป้าหมายและความฝันของเราอีกขั้นหนึ่ง หากการทำหนังสือเป็นสิ่งที่เราต้องการทำและเราจริงจังกับมันมากๆ อย่าลืมทำตามขั้นตอนเหล่านี้ ทำให้มันประสบความสำเร็จ ไม่แน่นะ เราอาจจะพบความสามารถของเราอีกมากที่ผุดขึ้นมาจากการทำหนังสือ (ขำ) และเราจะภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้นเมื่อได้ทำมัน
แต่ถ้าใครไม่อยากทำเล่มเอง...จะลงขายนิยายกับทางเด็กดีก็ได้นะคะ รายได้ก็ปังปุริเย่ไม่แพ้กัน เป็นกำลังใจนักเขียนทุกคนค่ะ
พี่น้ำผึ้ง :)
ขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
1 ความคิดเห็น
ขอบคุณค่ะ