Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

“เลิกกันแล้วก็ยังเป็นเพื่อนกันได้” แรงบันดาลใจให้ “จรสจันทร์” เขียน “แฟนเก่าที่ (ไม่) รัก”

“เลิกกันแล้วก็ยังเป็นเพื่อนกันได้”
แรงบันดาลใจให้ “จรสจันทร์” เขียน “แฟนเก่าที่ (ไม่) รัก”
 

“พี่หนิงงงงง”

“ลากเสียงแบบนี้ ทำหน้าทำตาแบบนี้ มีปัญหาอะไรมาใช่ไหม ?”

แน่ละ ทำไมพี่หนิงจะเดาไม่ออก ก็ฉันเล่นทำแบบทุกครั้งที่เจอพี่หนิงตอนตัวเองกำลังมีปัญหา ทั้งน้ำเสียง ทั้งสีหน้าของฉัน ยังไงพี่หนิงก็เดาออก

พี่หนิงมาถูกจังหวะ มาทันเวลาพอดีอย่างกับรู้ใจจริงๆ นะ ฉันนึกขอบคุณงานสายเว็บดีไซเนอร์และกราฟฟิกที่ตัวเองทำอยู่ประจำ นึกขอบคุณที่พี่หนิงถนัดและเคยทำงานสายนี้เช่นกัน จนทำให้ฉันมีโอกาสมาปรึกษาเรื่องงานกับพี่หนิงอยู่บ่อยๆ

ครั้นพอยิ่งบ่อยขึ้น บ่อยขึ้น จากเรื่องงานก็เลยลามเป็นเรื่องอื่นๆ ด้วยเลย

เรื่องอื่นๆ ที่ว่านั้นครอบคลุมทั้ง...

“ยังไง ตกลงเครียดเรื่องอะไร”

“ปัญหาหัวใจน่ะพี่”

“อุ๊ย เดี๋ยวนี้มีความรัก...” พี่สาวคนดีเริ่มส่งเสียงและสายตาแซวฉัน แต่ขอโทษนะพี่หนิง ตอนนี้น้องขำไม่ออกจริงๆ ฮือ “ดูสิ ขนาดพี่แซวยังไม่ขำด้วยเลย แสดงว่าต้องเครียดมากแน่ๆ อะ ไหนลองเล่ามา”

“หนูเพิ่งคบกับคนนี้ได้ไม่นาน เค้ามาจีบหนูก่อน มาขอคบก่อนด้วย หนูรู้สึกโอเค คิดว่าไปต่อได้ เลยลองคบกัน แต่พี่รู้อะไรมั้ย! คบกันได้แค่สองอาทิตย์ จู่ๆ มันก็มาบอกหนูว่าขอห่างกันสักพัก เพราะยังลืมแฟนเก่าไม่ได้!”

คราวนี้ฉันเริ่มเห็นความหมายที่สื่อผ่านสายตาพี่หนิงในหลายๆ ความ ทั้งสนใจ ใส่ใจ เข้าใจ และดูเหมือนพี่หนิงจะนึกอะไรออก ว่าแล้วพี่แกก็หยิบมือถือตัวเอง เปิดแอปพลิเคชันนิยายสีส้มขึ้นมา

“โอ้ยพี่หนิง หนูยังไม่อยากอ่านนิยายตอนนี้”

“ลองอ่านเรื่องนี้ดูก่อน เรื่องนี้พี่เขียนเอง บังเอิญมาก ตรงกับเรื่องที่เรากำลังเจออยู่พอดีเลย”

จริงด้วย...เกือบลืมไปเลยว่าพี่หนิงเป็นนักเขียน แถมเป็นนักเขียนที่เก่งมาก ออกงานต่อเนื่อง จนสามารถลาออกจากงานประจำมาเขียนนิยายได้

“อ่านแล้วมาคุยกันนะ”

พี่หนิงยื่นมือถือเครื่องนั้นส่งให้ฉัน ภาพที่เห็นคือนิยายหน้าปกสีชมพู ดูน่ารักน่าอ่าน และชื่อเรื่องที่ฟังแล้วจี้ใจดำฉันมากเสียจริง

...แฟนเก่าที่ (ไม่) รัก

 1
รู้จัก “จรสจันทร์”
 

          “อ่านแล้วนะคะ คุณจรสจันทร์

          ฉันกลับมาคุยกับพี่หนิงอีกครั้ง พร้อมเรียกขานด้วยชื่อนามปากกาของเจ้าตัว ที่ใช้ในการเขียนนิยาย

“จบยัง”

          “ยังเลย อ่านไปได้นิดหน่อย”

           “เป็นไงบ้าง”

          “จะเป็นไงล่ะ อินสิคะ! อินมากเลย อ่านแล้วก็อยากคุยกับพี่หนิงในฐานะนักเขียนเลยอะ นึกได้ว่าตั้งแต่เรารู้จักกันมา หนูยังไม่เคยคุยกับพี่จริงจังเรื่องนี้เลย”

          และคำถามแรกที่ฉันถามพี่หนิงในฐานะ “จรสจันทร์” ก็คือกว่าจะเป็นนักเขียน พี่หนิงทำอะไรมาบ้าง

          “ทำมาเยอะมากเลย เมื่อก่อนเคยเป็นเว็บดีไซน์เนอร์ และทำงานเกี่ยวกับพวกกราฟฟิก แต่งานประจำล่าสุดที่ทำเป็นงานที่เกี่ยวกับการติดต่อประสานงานขายผักและผลไม้ออแกนิกให้กับร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ค่ะ ตอนนี้ไม่ได้ทำงานประจำแล้ว เป็นนักเขียนเต็มตัว”

          ฉันถึงกับปรบมือให้พี่หนิง การเขียนนิยายสักเรื่องไม่ใช่เรื่องง่าย และคนคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาเขียนนิยายจนถึงขั้นเป็นนักเขียนเต็มตัว เป็นอาชีพหลักได้แบบนี้ ควรค่าแก่การชื่นชมจริงๆ

           แต่การจะยึดอาชีพนักเขียนเป็นอาชีพหลักได้ แค่ตัวเองออกงานสม่ำเสมอคงยังไม่พอ ฉันเชื่อว่าอีกปัจจัยที่สำคัญคือการมีนักอ่านติดตามอย่างเหนียวแน่น

          “พี่หนิงคิดว่าอะไรคือจุดเด่นในงานของตัวเองเหรอ ที่ทำให้ออกงานอย่างต่อเนื่อง นักอ่านก็ยังชอบ ยังเลือกที่จะติดตาม”

          “ข้อนี้ตอบยากจัง” พี่สาวคนสวยยิ้มกว้าง “จะเป็นการอวยตัวเองไหมคะเนี่ย”

          “อวยได้เลยค่า! น้องเปิดโอกาสให้อวยแล้ว อ้ะ จัดมา”

          “คิดว่าจุดเด่นในงานเขียนแต่ละเรื่องของจรสจันทร์น่าจะเป็นสำนวนที่อ่านง่ายและไหลลื่นค่ะ และโดยส่วนใหญ่นิยายของจรสจันทร์เกือบทุกเรื่องจะมีความลับแทรกอยู่นิด ๆ ให้คนอ่านต้องค้นหา อะไรประมาณนี้ค่ะ”

          จริง...ฉันเห็นด้วย ขนาดเรื่องล่าสุดที่พี่หนิงยื่นมาให้ฉันอ่าน ถึงพล็อตเรื่องจะว่าด้วยแฟนเก่าแฟนใหม่ อะไรทำนองนั้น แต่ก็มีความลับแทรกอยู่ชวนให้ค้นหาจริงๆ แหละ

          “เอาจริงพี่หนิงเขียนมาหลายแนวมากเลย รักโรแมนติกก็เขียนมาแล้ว สืบสวนก็เขียนมาแล้ว พีเรียดก็เขียนมาแล้ว ในอนาคตมีแนวไหนที่พี่ตั้งใจว่าจะเขียนอีกมั้ย”

          “น่าจะเป็นแฟนตาซีมั้งคะ เพราะชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ฤทัยบดีก็เป็นพีเรียดกึ่งแฟนตาซี มีคาถาอาคม มนตร์ขาวมนตร์ดำอะไรพวกนี้อยู่ในเรื่องด้วย นิยายแฟนตาซีเป็นอะไรที่เขียนแล้วสนุกมากเพราะใช้จินตนาการได้ไม่จำกัด

          เอาละ แต่ก่อนจะไปพูดถึงแนวแฟนตาซีที่ว่า ที่เป็นเรื่องของอนาคต ฉันก็โยกย้ายบทสนทนาไปสู่ประเด็นเรื่องของ “แฟนเก่าที่ (ไม่) รัก” นิยายเรื่องล่าสุดของจรสจันทร์ ที่ทั้งสำนวนอ่านง่าย ไหลลื่น ทั้งมีความลับชวนให้ค้นหา อันเป็นจุดเด่นในงานเขียนของเธอ อย่างที่พี่หนิงได้บอกฉันแล้ว

  2
กว่าจะเป็น “แฟนเก่าที่ (ไม่) รัก”
 

          “แรงบันดาลใจมาจากคู่รักดาราค่ะ ไม่ว่าจะเป็นคุณพลอย เฌอมาลย์ที่ไปร่วมงานแต่งงานของคุณโดม ปกรณ์ ลัมแล้วถ่ายรูปคู่กันกับเจ้าบ่าวเจ้าสาวอย่างชื่นมื่น หรือคุณฟลุค เกริกพลกับคุณโบ ชญาดา ที่แม้จะเลิกรากันไปแล้วก็ยังเป็นเพื่อนกันได้ ทั้งสองครอบครัวมาพบปะพูดคุยกันฉันมิตรได้”

          จากการติดตามข่าวคู่รักดาราในหลายๆ คู่ จึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้จรสจันทร์เริ่มคิดพล็อตและลงมือเขียน “แฟนเก่าที่ (ไม่) รัก” แต่นั่นก็ยังทำให้ฉันนึกตั้งคำถามขึ้นมาด้วยความสงสัยและไม่เข้าใจ

          “แต่เลิกกันแล้วมันจะเป็นเพื่อนกันได้จริงเหรอพี่หนิง ไม่ใช่ว่าถ่านไฟเก่าจะมาคุนะ”

          “ลองอ่านเรื่องนี้ให้จบก่อน แล้วอาจจะเข้าใจหรือเห็นภาพในประเด็นนี้มากขึ้นนะ”

          ฉันพยักหน้าตามคำแนะนำ คิดว่ายังไงก็จะต้องอ่านให้จบแน่นอน อย่างไรก็ตาม พี่หนิงก็ได้ปิดท้ายเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการกลับมาเป็นเพื่อนกันอีกครั้งของแฟนเก่า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของนิยายเรื่องนี้

          “พี่ว่ามิตรภาพแบบนี้เป็นเรื่องที่ดีและสวยงามมากเลยนะ”

          “แล้วถ้าให้เล่าสั้นๆ โปรยยั่วๆ ให้คนอ่านอยากติดตาม พี่หนิงจะขายเรื่องนี้ยังไง”

          “จู่ ๆ ชยาวุธก็มาบอกกับภัทรมัยว่า “ห่างกันสักพัก” เพราะยังลืมแฟนเก่าไม่ได้ และคิดว่ายังรักแฟนเก่าอยู่ ถ้าอยากรู้ว่าอะไรทำให้เขาคิดอย่างนั้น มีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้เขาไขว้เขวไม่แน่ใจ สรุปแล้วเขายังรักแฟนเก่าจริงไหม ถ้าไม่ใช่ เขาจะง้อภัทรมัยอย่างไรดี ต้องติดตามค่ะ”

          เป็นนักเขียนไม่พอนะคุณ สมัยนี้ต้องเป็นนักขายด้วย! และพี่หนิงก็ขายเก่งจริงๆ

          เรื่องนี้ติด TOP หน้าเว็บนิยายเด็กดีมายาวนานมากๆ ในช่วงที่อัปรายตอน มีจังหวะที่พุ่งทะยานไปถึงอันดับหนึ่งของเว็บเลยนะคุณ สำหรับฉัน ฉันมองว่าคอนฟลิกต์ (ความขัดแย้ง) หรือปม ที่จรสจันทร์หยิบมาเล่าในเรื่องนี้ เป็นอะไรที่คลาสสิกมาก ทั้งเรื่องการบอกเลิกกันด้วยเหตุผลที่ว่า “ยังลืมแฟนเก่าไม่ได้”

          โอ้โห เป็นพล็อตธรรมดาที่ทัชใจใครหลายคนจริงๆ อย่างน้อยฉันก็เป็นหนึ่งในนั้นแหละ แค่เริ่มเรื่องก็โกรธพระเอกเรื่องนี้เหลือเกิน ฉันถึงกับระบายกับพี่หนิงด้วยความอินกับประเด็นนี้ และแน่นอน พี่หนิงเป็นพี่สาวที่แสนดีของฉัน ยังไงก็ต้องเข้าข้างน้องคนนี้

          “มันน่าแค้นใจมากเลยนะ คบกับเราอยู่แท้ ๆ แต่สุดท้ายดันมาบอกว่าลืมแฟนเก่าไม่ได้นี่เชิญไปไกล ๆ เถอะค่ะ ไปนั่งคิดถึงแฟนเก่าให้พอใจเลย”

          บทสนทนาของเราสองพี่น้องยังลากยาวไปถึงเรื่อง “ห่างกันสักพัก” ประโยคบอกเลิกทางอ้อมยอดฮิต คิดแล้วก็โมโห ใครอย่าเปิดเพลงนี้ขึ้นตอนนี้เชียวนะ!

          “นั่นแหละพี่หนิง หนูโดนบอกว่าขอห่างกันสักพัก มันเจ็บมากเลย ทั้งโมโหทั้งเสียใจอะ แล้วพี่หนิงล่ะคะ ถ้าสมมติพี่โดนแบบหนู แบบภัทรมัย พี่จะรู้สึกยังไง”

          “ถ้าเจอกับตัวก็คงคิดว่าเป็นการบอกเลิกกันทางอ้อม และอาจจะคิดว่าช่วงที่ห่างกับเราไปนั้น เขาไปทดลองคบคนอื่นรึเปล่า อันนี้ต้องสืบ

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ขอห่างสักพัก ไม่ต่างอะไรกับการบอกเลิกเลย”

จริง จริง จริง! กดไลก์ล้านครั้งให้กับประโยคท้ายของพี่หนิงเลย มันจริงมากๆ

 

 

ทีนี้ พอพูดถึงเหตุผลในมุมของฉันไปแล้ว ว่าทำไมเรื่องนี้ถึงได้รับความนิยมที่เด็กดีมาก จนถึงขั้นติดอันดับหนึ่งเลยทีเดียว ฉันก็อยากรู้ในมุมของจรสจันทร์ในฐานะเจ้าของเรื่องกันบ้าง สำหรับพี่หนิงแล้ว อะไรและทำไมนะ ที่ทำให้นักอ่านชอบ “แฟนเก่าที่ (ไม่) รัก”

“อย่างแรก คิดว่าคนอ่านคงอยากรู้ค่ะว่าพระเอกจะโดนเอาคืนอย่างไรบ้าง
 

อย่างที่สอง คิดว่าคนอ่านน่าจะชอบนางเอกสายมั่น ปากกล้า และสตรองค่ะ”

จรสจันทร์มองว่าจุดเด่นของเรื่องนี้คือคาแรคเตอร์พระนาง นั่นนำไปสู่นิยามนางเอกอย่าง “ภัทรมัย” ว่าเป็น “ผู้หญิงสายมั่น” ขณะพี่พระเอกอย่าง “ชยาวุธ” คือ “ผู้ชายสายอ่อย”

          “ภัทรมัย เป็นสาวยุคใหม่หัวก้าวหน้า และค่อนข้างเฟมินิสต์ เธอไม่เคยใส่ใจกับคำว่าให้ผู้ชายกินฟรี หรืออยู่ก่อนแต่ง เพราะเธอเชื่อว่าเซ็กซ์เป็นการแสดงออกทางกายของคนรักกัน และเกลียดคนที่ตีค่าของผู้หญิงด้วยเยื่อบาง ๆ ในช่องคลอด
 

ชยาวุธ เป็นผู้ชายธรรมดาทั่วไปที่พบเห็นได้บ่อยมาก คือเวลาทำงานก็จริงจัง อยู่กับเพื่อนก็เฮฮา แต่ถ้าอยู่กับแฟนก็จะออดอ้อน ชอบชวนคุยเรื่องทะลึ่ง และชอบอ่อยด้วยการเดินแก้ผ้าอยู่ในห้องโฉบไปโฉบมาเพื่อยั่วนางเอก”

เป็นคู่ที่สมน้ำสมเนื้อจริงๆ... นี่คือความรู้สึกแรกของฉัน จากการฟังที่มาของนิยามตัวละครทั้งสองจากเรื่องนี้ โดยเฉพาะตาชยาวุธ เป็นผู้ชายที่มีเสน่ห์ก็จริง แต่ฉันอยากจะตีมันสักทีสองที แล้วจากการส่องคอมเมนต์ที่เด็กดี ทำให้ฉันดีใจมาก เพราะไม่ได้มีแค่ฉันคนเดียวที่ด่ามัน!

แล้วที่คาดไม่ถึง คือพี่หนิงบอกกับฉันว่า ยิ่งเห็นคนด่าพระเอกเยอะในช่วงแรก ยิ่งเป็นประโยชน์กับจรสจันทร์ในฐานะนักเขียนมาก! อะไร้! พระเอกโดนด่าเนี่ยนะ มีประโยชน์

“ฟีดแบ็กจากคนอ่านเยอะพอสมควร ทั้งคอมเมนต์และยอดวิว น่าชื่นใจมากค่ะ เพราะคอมเมนต์ของคนอ่านทำให้เรารู้ว่าเขาอินไปกับเนื้อเรื่องที่เราแต่งไหม อย่างเช่นเรื่องนี้คนด่าพระเอกเยอะมากในช่วงแรก ซึ่งก็เป็นผลดีกับคนเขียนมาก เพราะหมายความว่าเราเขียนและสื่อสารได้ดีจนเขาอินกับตัวละครตัวนี้จริง ๆ”

คนธรรมดา... สุดท้ายแล้วชยาวุธก็ไม่ใช่ผู้ชายแสนดีจากไหน ก็คือคนธรรมดาที่จับต้องได้นี่แหละนะ ไหนจะนางเอกของเรื่อง ภัทรมัยก็ไม่ใช่ผู้หญิงแสนดี พี่หนิงยังเล่าให้ฉันฟังต่ออีก ว่าสุดท้ายแล้ว ที่ชยาวุธกับภัทรมัยเป็นที่รักของนักอ่าน ทำให้นักอ่านอย่างเอาใจช่วยสองคนนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ สาเหตุสำคัญก็คือ...

ความธรรมดานี่แหละค่ะที่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของตัวละคร เพราะวิถีชีวิต การพูดคุย การกินอยู่ของทั้งคู่ไม่ต่างอะไรกับคนทั่วไปเลย จึงทำให้ทั้งสองคนเหมือนมีตัวตนจริง ๆ ที่เราสามารถพบเจอได้ตามท้องถนน และรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องของคนใกล้ตัวที่ทำให้เราอยากรู้ความเป็นไปของคนทั้งคู่”

ที่สุดแล้ว ประเด็นเรื่องการสร้างตัวละครให้เป็นคนธรรมดา เหมือนมีตัวตนจริงๆ เลยทำให้ฉันได้รู้จากพี่หนิงอีก ว่าในการเขียนเรื่องนี้ จรสจันทร์ได้ผูกเรื่องจากการเอาประสบการณ์ส่วนหนึ่งที่ครั้งหนึ่งในชีวิตมีโอกาสได้รับรู้ นำมาถ่ายทอดเป็นนิยายรักธรรมดาๆ เรื่องนี้

“เป็นประสบการณ์ส่วนหนึ่งของเพื่อนสมัยเรียนค่ะ เขาเป็นคนที่มีบุคลิกคล้ายชยาวุธเลย และเคยขอห่างจากแฟนเพราะสับสนในตัวเองเหมือนกัน คือเป็นห่วงแฟนเก่าที่เป็นคนบ้านเดียวกัน(ทั้งคู่มาจากต่างจังหวัด) แฟนเก่าถูกรถชนเลยต้องไปดูแลเพราะแฟนเก่าไม่มีญาติพี่น้องที่กรุงเทพฯ เพื่อน ๆ ที่มาจากบ้านเดียวกันก็เชียร์ให้กลับมาคบกันอีก ทั้งที่เพื่อนคนนี้มีแฟนใหม่แล้ว พอถูกกระตุ้นโดนพูดกรอกหูมากเข้าก็เลยเริ่มไม่แน่ใจว่าตกลงแล้วยังรักแฟนเก่าไหม แต่สุดท้ายทุกอย่างก็จบลงด้วยดี เพราะพอเปิดใจคุยกับแฟนเก่าแล้วสรุปว่าเหลือไว้เพียงมิตรภาพที่ดีต่อกัน

เราคุยกันถึงเรื่องตัวละครหลักไปแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันชอบมากๆ จากนิยายเรื่องนี้คือชื่อเรื่อง “แฟนเก่าที่ (ไม่) รัก” ที่ตีความได้หลายอย่างมากๆ ฉันนึกถึงตัวละคร “เฟิร์น” ที่เป็นแฟนเก่าของชยาวุธ หรืออีกนัยหนึ่ง มันก็อาจสื่อถึงตัวชยาวุธเองที่อาจกลายเป็นแฟนเก่าของภัทรมัย

และคำตอบของพี่หนิงก็ทำให้ฉันดีใจที่เราคิดตรงกัน

“ทั้งสองความหมายเลยค่ะ เฟิร์นเป็นแฟนเก่าที่คบกับพระเอกมานานสิบกว่าปี แต่พอจุดที่ทั้งคู่อิ่มตัวกับความสัมพันธ์แบบนี้จึงตัดสินใจกลับมาเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม แต่เพราะระยะเวลาและความผูกพันที่เฟิร์นกับพระเอกมีต่อกัน มันเหมือนหนามทิ่มใจของนางเอกซึ่งรู้ตัวดีว่าตนมาทีหลัง อีกทั้งนางเอกเป็นคนที่ชอบความชัดเจน
 

ถ้าพระเอกยังมัวแต่สับสนกับความรู้สึกตัวเองไม่ยอมตัดสินใจให้เด็ดขาด เขาก็จะกลายเป็นแฟนเก่าของนางเอกเหมือนกัน

นอกจากเรื่องตัวละคร ชื่อเรื่อง แรงบันดาลใจต่างๆ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้นิยายเรื่องหนึ่งจับใจนักอ่าน นั่นคือบรรยากาศที่สมจริง ใน แฟนเก่าที่ (ไม่) รัก สังคมออฟฟิศในเรื่องก็เป็นอะไรที่เรียลมาก จนฉันนึกสงสัยว่าพี่หนิงศึกษาข้อมูลมาจากไหน หรือการที่ตัวเองเคยเป็นสาวออฟฟิศมาก่อน มีส่วนสำคัญในการช่วยเรื่องนี้หรือไม่

“มาจากตัวเองนี่แหละค่ะ” พี่หนิงหัวเราะ ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติม “เพราะเคยทำงานในแวดวงนี้มาก่อน ก็เลยเอาบรรยากาศการทำงานที่เคยประสบกับตัวเองมาใส่เข้าไป”

“งั้นพี่หนิงต้องเม้าท์ให้น้องฟังหน่อยแล้ว! พอจะยกตัวอย่างได้ไหมคะ”

“ตัวอย่างคร่าวๆ ก็สองเหตุการณ์นี้เลยค่ะ
 

1. บรรยากาศตอนประชุมการบรีฟงานจากเออี ก็จะมีอาร์ตไดฯ / โพรเจ็กต์เมเนเจอร์ และกราฟิกดีไซน์ที่ทำงานตัวนี้เข้าประชุมด้วยกัน พี่ทำตำแหน่งกราฟิก รับบรีฟมาแล้วก็ทำส่งให้ลูกค้าเลือกสองแบบ อีกคนก็สองแบบเหมือนกัน
 

2. เชอร์รีจากในเรื่อง ก็ดัดแปลงมาจากเออีน้องใหม่ตอนสมัยที่พี่ทำงาน แต่น้องคนนั้นเขาไม่ได้จะแย่งแฟนใคร แค่นิสัยคล้าย ๆ กันคือเจ้าน้ำตา ขี้งอน น้อยใจเก่ง คุณหนูมาก บางทีรับบรีฟมาจากลูกค้าไม่รู้เรื่อง แล้วเอามาถ่ายทอดต่อให้พวกพี่ก็ไม่รู้เรื่องเช่นกัน พอโดนดุก็ร้องไห้ในที่ประชุมเลย”

ให้ตายเถอะ ยิ่งได้คุยกับพี่หนิง ฉันก็ยิ่งอยากไปอ่าน “แฟนเก่าที่ (ไม่) รัก” ต่อให้จบ

“นี่หนูก็ไม่คิดเลยนะว่าเราจะคุยกันเรื่องนิยายของพี่หนิงมายาวนานขนาดนี้ ทั้งที่ตอนแรกตั้งใจจะมาปรึกษาเรื่องความรักแท้ๆ”

“ดีแล้ว มีอะไรที่เครียดก็อย่าเก็บไว้คนเดียว หาคนที่ไว้ใจแล้วปรึกษาเถอะ

พี่หนิงตอบฉันด้วยความเข้าใจ นั่นทำให้ฉันนึกถึงอีกประเด็นที่อยู่ในเรื่องนี้

“จริงด้วย เรื่องนี้มีตัวละครเป็นจิตแพทย์ แถมพระเอกก็กำลังรักษาด้วยปัญหาส่วนตัวเหมือนกัน 

แอบอยากรู้เลยว่าพี่หนิงตั้งใจสื่อสารใช่ไหมคะเรื่องการขอคำปรึกษาจากหมอ กรณีที่แบกรับความเครียดไม่ไหว เพราะเอาจริงเรื่องนี้ตัวละครแทบทุกตัวมีบาดแผลทางใจทั้งนั้นเลย”

ตั้งใจค่ะ เพราะทุกวันนี้คนเรามีปัญหาทางจิตอันเกิดจากความเครียดเยอะมาก ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว พอสะสมนานวันเข้าก็พัฒนาเป็นซึมเศร้าและไบโพลาร์ และโดยส่วนใหญ่มักไม่กล้าไปพบจิตแพทย์ เพราะหลายคนยังมีความเชื่ออยู่ว่ามีแต่คนบ้าเท่านั้นที่ไปหาหมอโรคจิต นิยายหลายเรื่องของจรสจันทร์จึงมักมีเรื่องปัญหาทางจิตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เพราะอยากรณรงค์ให้ทุกคนกล้าที่จะไปพบจิตแพทย์

แต่สำหรับฉันแล้ว ไหนๆ ก็คุยกับจรสจันทร์ หรือพี่หนิงมาถึงจุดนี้ ก่อนจะขอคำปรึกษาจิตแพทย์ ฉันขอคำแนะนำจากพี่หนิงก่อนก็แล้วกัน

“หนูว่าพี่หนิงต้องเข้าใจเรื่องพวกนี้ดีประมาณนึง ถึงถ่ายทอดออกมาเป็นนิยายที่เรียลได้ขนาดนี้ เลยอยากรู้น่ะค่ะ ว่าในความสัมพันธ์ที่แฟนเก่าของแฟนเราเข้ามาเป็นรอยร้าวในความสัมพันธ์ แบบที่หนูกำลังเจออยู่ พี่หนิงว่าควรจัดการกับปัญหานี้ยังไงดี”

นี่คือคำตอบสุดท้ายที่พี่หนิงทิ้งท้ายไว้ สำหรับการพูดคุยเกี่ยวกับนิยายเรื่องนี้ ที่ว่าด้วยแฟนเก่า แฟนใหม่ การที่แฟนเก่ากลับมาเป็นเพื่อนกัน และประโยคบอกเลิกสุดคลาสสิคอย่าง “ห่างกันสักพัก” หรือเหตุผลสุดคลาสสิคอย่าง “ลืมแฟนเก่าไม่ได้”

“ก่อนอื่นต้องดูท่าทีของแฟนเราก่อนว่าเขาอยากไปต่อกับเราไหม ถ้าดูแล้วไปไม่ไหว ดูเขายังแคร์แฟนเก่ามากกว่าเราก็ต้องปล่อยมือ ป่วยการจะยื้อไว้ แต่ถ้าแฟนให้ความสำคัญกับเรามากกว่า เราก็ต้องคุยกับเขาว่าคุณต้องชัดเจนแล้วนะ ต้องพูดกับทางนั้นให้เคลียร์ ไม่อย่างนั้นก็จะคาราคาซังไม่จบสิ้น”

 3
ตามหาสไตล์ตัวเองให้เจอ
 

        “ถ้าคุณไม่ชอบอ่านหนังสือ คุณจะเป็นนักเขียนที่ดีไม่ได้”

          พอมีโอกาสได้คุยกับพี่หนิงอย่างละเอียดเรื่องการเป็นนักเขียน เลยได้รู้จากพี่หนิงว่าครั้งหนึ่ง จรสจันทร์ก็เคยสัมภาษณ์กับเว็บไซต์เด็กดี ซึ่งมีการทิ้งท้ายประโยคคมๆ แต่กินใจ และนำไปปรับใช้ได้จริงกับทุกคนที่อยากเป็นนักเขียน

          ซึ่งสำหรับฉันแล้ว การอ่านให้บ่อย ความรักการอ่าน สิ่งเหล่านี้คือสเตปแรก หรือบันไดก้าวแรกของการเป็นนักเขียนเท่านั้น

          “หนูอยากรู้สเตปต่อไปจังเลยพี่หนิง ว่าพอเรารักการอ่านมากๆ แล้ว ขั้นตอนต่อไป เราต้องทำยังไงถึงจะได้เป็นนักเขียนอย่างที่ตั้งใจไว้ เพราะมันไม่ง่ายเลยนะพี่กับการเขียนให้จบสักเรื่องน่ะ”

          พี่หนิงส่งยิ้มให้ฉัน เป็นรอยยิ้มที่มีแต่ความเข้าใจ ก่อนจะให้คำแนะนำทิ้งท้าย ในฐานะคนที่เคยผ่านจุดที่เริ่มนับหนึ่งมาแล้ว มาสู่ปัจจุบัน ในจุดที่เป็นนักเขียนอาชีพซึ่งออกงานมาต่อเนื่องหลายปี

          “อย่างแรกเลยนะคะ ต้องดูว่าคุณชอบอ่านแนวไหน ชอบนิยายแบบไหน ให้ลองเขียนแนวนั้นดู อย่าเขียนนิยายตามกระแสถ้าไม่ได้ชอบสไตล์นั้นจริง ๆ เพราะมันจะไปต่อไม่ได้
 

เมื่อลองเขียนแล้วก็ต้องพยายามเขียนให้ได้ทุกวัน วันละหนึ่งย่อหน้าก็ยังดี
 

และลองเอาไปลงเว็บ เพื่อดูผลตอบรับจากคนอ่านว่าคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง
 

และทางที่ดีควรลงนิยายทุกวัน เพราะจะช่วยกระตุ้นให้เรามีความกระตือรือร้นในการแต่ง เหมือนเป็นการทำงานประจำอย่างหนึ่งที่เราต้องรับผิดชอบ”

เราสองคนคุยกันมานาน บทสนทนาในวันนั้นจบลงด้วยคำขอบคุณที่ฉันมีให้พี่หนิง หรือจรสจันทร์ ที่นักอ่านนิยายรักทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี

เราสองคนแยกย้ายกัน พร้อมกับแชทไลน์ที่เด้งมาในสมาร์ทโฟนของฉันพร้อมกันจากคนสองคน

คนหนึ่งคือพี่หนิง ที่ส่งลิงก์นิยาย “แฟนเก่าที่ (ไม่) รัก” มาให้

คนหนึ่งคือชายหนุ่มต้นเหตุคนนั้น คนที่ทำให้ฉันต้องแบกปัญหามาปรึกษาพี่หนิง

อย่างไรก็ตาม ฉันเชื่อว่า “แฟนเก่าที่ (ไม่) รัก” จะทำให้ฉันเข้าใจมากขึ้นว่าแฟนเก่าสามารถเป็นเพื่อนกันจริงๆ ได้นั้น เป็นได้อย่างไร เลิกแล้วก็ยังเป็นเพื่อนกันได้นั้นมีอยู่จริงใช่ไหม

และที่สำคัญ...ฉันคงจะหาทางออกให้กับตัวเองได้ ว่าจะจัดการปัญหาของเรา ที่มี “แฟนเก่าของแฟนตัวเอง” มาพัวพันด้วยได้อย่างไร

มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมๆ กันนะ

สำหรับใครที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้
สำหรับใครที่อยากเป็นนักเขียน
ก็อย่าลืมเอาคำแนะนำของจรสจันทร์มาปรับใช้
หาสไตล์ตัวเองให้เจอ
แล้วมาเริ่มเขียนนิยายในสไตล์ที่ใช่กันเถอะ

มาเขียนนิยายกัน

สุดท้ายนี้ หวังว่านักอ่านทุกคนจะสนุกกับนิยายรักธรรมดาเรื่องหนึ่ง
พล็อตธรรมดา ตัวละครธรรมดา
แต่บอกเล่าปัญหาที่ทัชใจใครหลายคน
กับผลงานเรื่องนี้ของจรสจันทร์นะ : )
พี่บาส
 

อ่านนิยายของ “จรสจันทร์”

Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด
แทรกรูปจากแกลเลอรี่ - Dek-D.com
L o a d i n g . . .
x
เรียงตาม:
ใหม่ล่าสุด
ใหม่ล่าสุด
เก่าที่สุด
ที่กำหนดไว้
*การลบรูปจาก Gallery จะส่งผลให้ภาพที่เคยถูกนำไปใช้ถูกลบไปด้วย

< Back
แทรกรูปโดย URL
กรุณาใส่ URL ที่ขึ้นต้นด้วย
http:// หรือ https://
กำลังโหลด...
ไม่สามารถโหลดรูปภาพนี้ได้
*เมื่อแทรกรูปเป็นการยืนยันว่ารูปที่ใช้เป็นของตัวเอง หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าของ และลงเครดิตเจ้าของรูปแล้วเท่านั้น
< Back
สร้างโฟลเดอร์ใหม่
< Back
ครอปรูปภาพ
Picture
px
px
ครอปรูปภาพ
Picture