รวม 6 ขนมยอดฮิตในนิยายจีนโบราณ
มีใครเคยอ่านนิยายแนวจีนโบราณแล้วเห็นชื่อขนมบางชนิดที่ไม่ว่าอ่านกี่เรื่องต่อกี่เรื่องก็เจอตลอดบ้างมั้ยคะ แล้วสงสัยหรือเปล่าว่าขนมเหล่านั้นคืออะไร
วันนี้พี่ปุ๋ยขอรวบรวมขนมยอดฮิต 6 ชนิด ที่เห็นบ่อยๆ ในนิยายจีนโบราณมาฝากทุกคนกันค่ะ ซึ่งแต่ละอย่างก็ไม่ได้หน้าตาน่าอร่อยเท่านั้น แต่ยังมีประวัติที่มาที่น่าสนใจมากๆ อีกด้วย
จะมีอะไรน่ากิน เอ้ย! น่าสนใจบ้างนะ ตามมาดูกันเล้ย!
เซาปิ่ง
เริ่มกันที่ขนมอย่างแรกกันเลยดีกว่าค่ะ ทุกคนคงคุ้นเคยชื่อนี้กันเป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าจะอ่านเรื่องไหนก็เจอตลอด นั่นก็คือขนมเซาปิ่งนั่นเอง
ขนมเปี๊ยะสดหรือแป้งทอด ที่ชาวจีนเรียกกันว่า เซาปิ่ง 燒餅 (shāobǐng) หรือ ฮวงกั๊วะเปี๊ยะ เป็นขนมโบราณของคนจีน ทำจากแป้งหรือแป้งผสมมันเทศบด สามารถกินได้สองแบบ คือแบบไม่มีไส้ กับแบบมีไส้ ซึ่งจะยัดไส้ด้วยถั่วเหลือง หรือเผือก กดให้แบนแล้วนำไปทอด บางสูตรอาจโรยงาด้วยก็ได้
เซาปิ่งมักจะเป็นที่นิยมในตอนเหนือของจีน แต่ไม่เป็นที่รู้จักมากนักในทางตอนใต้ คนมักจะกินเป็นอาหารเช้า แบบมีไส้นิยมกินกับนมถั่วเหลืองและชา ในขณะที่แบบไม่มีไส้มักจะกินกับไข่นึ่งหรืออาหารจานหลักที่มีเนื้อ ตามธรรมเนียมอาหารแมนดาริน เซาปิ่งจะเสิร์ฟพร้อมหม้อไฟหรือนมถั่วเหลืองในฤดูหนาว
ตำนานจีนกล่าวว่า เซาปิ่งนั้นถูกนำเข้ามาที่จีน โดยนายพลปานเชา ในสมัยราชวงศ์ฮั่น หลังจากที่เขากลับมาจากแนวรบด้านภูมิภาคตะวันตก เซาปิ่งแต่เดิมรู้จักกันในชื่อ หูปิ่ง (胡餅) เชื่อกันว่ามีที่มาจากขนมปังของแถบเปอร์เซียนและตะวันออกกลาง
ถังหูลู่
สำหรับขนมชนิดถัดมานี้ บอกได้เลยว่าเป็นขนมยอดฮิตที่ได้ยินแทบจะทุกเรื่องในนิยายจีนไม่ว่าจะแนวไหนก็ตาม ไม่ว่าจะจีนโบราณหรือจีนปัจจุบัน เพราะถือได้ว่าเป็นขนมที่ฮิตกันมาทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเลยล่ะค่ะ
ถังหูลู่ 糖葫芦 (Tánghúlu) เป็นขนมของจีนทางเหนือแบบดั้งเดิม ที่ใช้ผลซานจาหรือก็คือพุทราจีน เคลือบด้วยน้ำตาลเชื่อม เสียบบนไม้ไผ่ ตั้งชื่อตามรูปร่างที่คล้ายน้ำเต้า 糖 táng (ถัง) แปลว่า น้ำตาล และ 葫芦 húlu (หูลู่) แปลว่า น้ำเต้า
ถังหูลู่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผลไม้ที่มีรสหวานทั่วไป แต่จริงๆ แล้วผลไม้ที่นำมาเชื่อมนั้นมักจะเป็นผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เคลือบด้วยน้ำเชื่อมและรอจนผิวด้านนอกแข็งตัว ขนมหวานชนิดนี้มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง
ตามตำนานพื้นบ้านเล่าว่าถังหูลู่มีที่มาจากการที่พระสนมของจักรพรรดิกวงจง ในสมัยราชวงศ์ซ่ง เกิดประชวรเป็นโรคเบื่ออาหาร จึงประกาศตามหาหมอฝีมือดีมารักษา และมีหมอคนหนึ่งนำผลซานจา (ที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย) สองลูกมาเสียบบนไม้ไผ่และเคลือบด้วยน้ำเชื่อมถวายแก่พระสนม ทำให้พระสนมมีอาการดีขึ้น ด้วยประโยชน์และรสชาติหวานอมเปรี้ยวของถังหูลู่นี่เอง มันจึงได้รับความนิยมไปทั่วทั้งจีน
เดิมถังหูลู่จะใช้ผลซานจา แต่ในสมัยปัจจุบัน พ่อค้าแม่ค้ายังใช้ผลไม้อื่นๆ เช่น มะเขือเทศราชินี ส้มแมนดาริน สตรอเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ สับปะรด กีวี กล้วย หรือองุ่น มาใช้แทน เมล็ดของผลไม้ทั้งหลายจะถูกคว้านทิ้ง และถูกยัดไส้ด้วยถั่วแดงหวานก่อนที่จะเสียบไม้เสียบ และเคลือบด้วยน้ำเชื่อม
ขนมกุ้ยฮวา
ขนมนี้เรามักจะเจอในฉากที่เกี่ยวกับเทศกาลสำคัญๆ เพราะขนมกุ้ยฮวาเป็นขนมจีนโบราณที่มักนิยมรับประทานในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ประจำปีนั่นเอง
ขนมกุ้ยฮวา 桂花糕 (Guìhuā gāo) เป็นเค้กแบบจีนโบราณที่มีทั้งแบบที่ทำจากแป้งข้าวจ้าว จะให้ความรู้สึกนุ่มๆ ฟูๆ เหมือนเค้กแบบทั่วไป หรือถ้าใช้แป้งข้าวเหนียว จะให้สัมผัสหนึบหนับ ผสมด้วยน้ำผึ้งดอกกุ้ย หรือน้ำตาลดอกกุ้ย มีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยม คล้ายขนมถั่วกวนบ้านเรา โรยหน้าด้วยดอกกุ้ยฮวา หรือที่คนไทยเรียกว่าดอกหอมหมื่นลี้
ขนมกุ้ยฮวามีต้นกำเนิดในประเทศจีนในสมัยราชวงศ์หมิง แม้ว่าต้นกำเนิดของมันจะไม่ชัดเจน แต่นิทานพื้นบ้านเล่าว่ามีกวีผู้หนึ่งนามว่า หยางเฉิน ฝันว่าได้ไปเยือนดวงจันทร์ ในความฝัน เขาเห็นพระราชวังอันงดงามและต้นกุ้ยฮวาขนาดใหญ่ที่มีกลิ่นหอมหวาน เขาหยิบมันขึ้นมาและนำมันกลับมาด้วย ในช่วงปลายราชวงศ์หมิง พ่อค้าเร่จากซินตูชื่อหลิว จี้เซียง ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องเล่านี้จึงทำการรวบรวมดอกกุ้ยฮวาสด และนำมันมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย รวมถึงสกัดเป็นน้ำตาล และผสมกับข้าวเหนียวเพื่อผลิตเป็นขนมหวานดังที่เรารู้จักในปัจจุบันนี้ อีกทั้งยังเป็นขนมขึ้นชื่อของเมืองซินตูอีกด้วย
เฉียวกั่ว
ถ้าพูดถึงเทศกาลชีซี (七夕节) เทศกาลยอดฮิตในฉากสวีตหวานของพระนางในนิยายแล้วเนี่ย ก็ต้องอย่าลืมนึกถึงขนมเฉียวกั่วนะคะ
ขนมเฉียวกั่ว 巧果 (Qiǎo guǒ) เป็นขนมที่นิยมกินกันในเทศกาลชีซี หรือเทศกาลวาเลนไทน์ของชาวจีนสมัยโบราณ ตามตำนานสาวทอผ้ากับหนุ่มเลี้ยงวัว เนื่องจาก คำว่า 巧 (qiǎo) ออกเสียงคล้ายกับคำว่า 桥 (qiáo) ที่แปลว่าสะพาน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ ‘สะพานนกกางเขน’ ตามตำนานที่ว่า ในวันที่ 7 ของเดือน 7 ทางจันทรคติ ฝูงนกกางเขนที่สวยงามจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำบนท้องฟ้าอันยิ่งใหญ่เพื่อให้สาวทอผ้ากับหนุ่มเลี้ยงวัวได้พบกัน
อีกทั้ง คำว่า 巧 (qiǎo) สามารถแปลความหมายถึงคำว่า เก่ง ได้อีกด้วย ขนมเฉียวกั่ว จึงได้ชื่อว่าเป็นขนมแห่งความเฉลียวฉลาด ผู้คนจึงนิยมกินกันเพื่อให้มีความฉลาดเฉลียว และคล่องแคล่วปราดเปรียว เฉียวกั่วเป็นขนมพื้นบ้านของจีนที่มีเอกลักษณ์คือทำจากงาเป็นหลัก และต้องประณีตเป็นอย่างมาก มักจะถูกทำเป็นรูปทรงที่สวยงามแตกต่างกันไป ส่วนผสมหลักคือแป้งข้าวสาลี น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลข้าวมอลต์ และเมล็ดงา
ขนมหนวดมังกร
ขนมหนวดมังกร 龙须糖 (Lóng xū táng) หรือ ขนมไหมฟ้า เป็นขนมกินเล่นที่อาจจะไม่ได้เห็นบ่อยในนิยายเท่าขนมชนิดอื่นๆ แต่ก็ถูกพูดถึงให้ได้คุ้นหูคุ้นตากันอยู่บ้าง
เส้นขนมหนวดมังกร ทำมาจากน้ำผึ้งกวนกับแป้งข้าวเจ้า, แป้งข้าวโพด, แป้งข้าวเหนียว และข้าวโอ๊ต จากนั้นใช้มือขึงให้เป็นเส้นไหมสีขาวหลายพันเส้น และนำมาคลุกกับไส้เม็ดมะม่วงหิมพานต์ งาขาว และถั่วลิสง จากนั้นจึงปั้นเป็นก้อนกลมๆ ลักษณะคล้ายดักแด้
ขนมมังกรมีขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่น พ่อครัวในราชสำนักสร้างสรรค์เมนูใหม่ขึ้นถวายแด่องค์จักรพรรดิ โดยได้นำแป้งข้าวเจ้ามายืดเป็นเส้นเล็กๆ บางๆ ลักษณะคล้ายหนวด และการตั้งชื่อให้ว่าหนวดมังกรนั้น ก็เพราะมังกรถือเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดินั่นเอง ขนมหนวดมังกรจึงสงวนไว้ให้ถวายแก่จักพรรดิและชนชั้นสูงราชสำนักเท่านั้น
และเนื่องจากขนมชนิดนี้มีขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่นนี่เอง ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมจีน พรรคคอมมิวนิสต์ได้ห้ามประชาชนทำกิจกรรมใดก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ฮั่น อีกทั้งขั้นตอนการทำขนมนี้ก็ค่อนข้างละเอียดซับซ้อนจึงหาผู้สืบทอดได้ยาก แต่ในปัจจุบันนี้ขนมหนวดมังกรก็เป็นที่แพร่หลายตามสถานที่ท่องเที่ยว และเป็นต้นแบบของขนมสายไหมแบบต่างๆ ทั่วโลก
หมั่นโถว
และมาถึงขนมชนิดสุดท้ายกันแล้วค่ะ สำหรับขนมชนิดนี้จะเรียกว่าขนมก็ไม่ใช่ อาหารก็ไม่เชิง แต่เป็นของกินที่เจอบ่อยมากกกก (ก ไก่ล้านตัว) เพราะถือว่าเป็นของกินกันตายของเหล่าตัวละครในนิยายทั้งหลายเลยละค่ะ ไม่ว่าจะบุกป่าฝ่าดง ลำบากยากจนแค่ไหนก็ยังมีหมั่นโถวให้กินอยู่ แค่นี้ก็ไม่อดตายแล้วล่ะ!
หมั่วโถว 饅頭 (Mántou) หรือซาลาเปาไม่มีไส้ เป็นขนมปังนึ่งนุ่มๆ สีขาว ชาวจีนนิยมกินเป็นของว่างหรืออาหารเช้า และมักจะขายตามข้างทางหรือร้านอาหารมากกว่าทำกินเองที่บ้าน
ตามตำนานจีนที่ได้รับความนิยม ว่ากันว่า ในยุคสามก๊ก เมื่อครั้งที่เบ้งเฮ็ก ผู้ปกครองชาวม่านทางตอนใต้ของจ๊กก๊กคิดกบฏ จูกัดเหลียงหรือขงเบ้งจึงต้องยกทัพลงมาปราบ ขงเบ้งทำการรบกับชาวม่าน แม้สุดท้ายจะชนะแต่เขาได้ฆ่าคนไปเป็นจำนวนมาก ขณะที่ทัพขงเบ้งจะข้ามสะพานลกซุย แม่น้ำก็ไหลเชี่ยวจนไม่สามารถข้ามไปได้ เบ้งเฮ็กจึงแนะนำขงเบ้งให้ทำพิธีเซ่นไหว้ตามธรรมเนียมม่าน โดยการตัดหัวคน 50 คนแล้วโยนลงไปในแม่น้ำเพื่อเป็นการสังเวย แต่ขงเบ้งไม่อยากฆ่าคนเพิ่ม จึงได้ปั้นแป้งสาลีเป็นรูปหัวคน ยัดไส้ด้วยเนื้อวัวเนื้อม้าแล้วเอาไปนึ่ง จากนั้นจึงโยนขนมปังลงไปในแม่น้ำ
หลังจากที่ข้ามแม่น้ำได้สำเร็จ เขาตั้งชื่อขนมปังว่า 'หัวของชาวม่าน' 蠻 = Mán, 頭 = tóu (หัว) ซึ่งในปัจจุบันได้พลิกแพลงกลายมาเป็น หมั่นโถว 饅頭 เพื่อลดความโหดลงหน่อยนั่นเองค่ะ
ถึงแม้ที่มาอาจจะดูโหดร้ายเกินกว่าจะเป็นที่มาของอาหารไปซะหน่อย แต่หมั่นโถวที่ทำมาจากแป้งสาลีผสมยีสต์ ไปนึ่งจนกลายเป็นชิ้นฟูๆ นุ่มๆ อวบๆ กลายเป็นอาหารยอดฮิตที่กินทั้งทั่วบ้านทั่วเมือง แถมปัจจุบันยังมีการดัดแปลง นำไปทอดแล้วจิ้มกินกับนมข้นหวานอีกด้วย น่ากินสุดๆไปเลย!
...............
ไหนใครอ่านจบแล้วท้องเริ่มร้องอยากกินขนมแล้วบ้างคะ สำหรับบทความนี้เนี่ยพี่ปุ๋ยเองก็ไม่ได้มาแนะนำขนมทั้ง 6 ชนิดนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นนะคะ แต่ยังมีนิยายเกี่ยวกับขนมอร่อยๆ มาฝากชาวเด็กดีกันอีกด้วย ใครอยากรู้ว่ามีขนมอะไรน่ากินบ้าง รีบตามมาดูกันเลย!
หลี่เจินคุณหนูอัปลักษณ์แห่งร้านขนมหวาน
คุณหนู หลี่จิน ผู้ที่ใครก็เรียกว่าหญิงอัปลักษณ์แห่งเจิ้งโจว เนื่องจากรอยปานแดงรูปดอกบัวบนใบหน้า ทำให้นางต้องใช้ชีวิตภายใต้ผ้าคลุมหน้าตลอดเวลา และด้วยความที่นางไม่ได้คบค้าสมาคมกับใครนัก นางจึงใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับการเข้าครัว อยู่กับแป้งและน้ำตาลทั้งวัน พรสวรรค์ในการทำขนมที่นางได้ค้นพบนี้เองนางจึงเปิดร้านขนมหวานที่มีชื่อว่า ซื่อจี๋ ที่แปลว่าความสุขและโชคดี ร้านขนมหวานที่ขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยล้ำไม่เหมือนใคร จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปจนถึงเมืองหลวงเลยทีเดียว!
อ่านนิยายฮูหยินกลิ่นวานิลลา
วนิลา เจ้าของร้านเบเกอรี่ผู้ล้มลุกคลุกคลานมามากจนกว่าจะประสบความสำเร็จ แต่แล้วเธอก็ประสบอุบัติเหตุจนวิญญาณถูกดูดเข้ามาในร่างของ กัวหลันฮวา เด็กสาวผู้อาภัพที่โดนทำร้ายจากคนในครอบครัวจนล้มป่วยเพราะถูกวางยาพิษมาเป็นเวลานาน เมื่อเธอได้เข้ามาอยู่ในร่างนี้แล้ว เธอจะไม่ยอมนอนตายไปเฉยๆ แน่ เธอจึงลุกขึ้นมาเข้าป่ากับบ่าวท้ายจวน หาวัตถุดิบต่างๆ มารังสรรค์เมนูขนมหวานแสนอร่อยมากมาย และเมื่อได้เป็นอิสระจากจวนที่เหมือนขุมนรกนี่ได้แล้ว หนทางต่อไปก็คือเปิดกิจการร้านขนมให้ให้รุ่งเรืองยังไงล่ะ!
อ่านนิยายทะลุมิติไปขายขนมพร้อมปิ่นหยกมิติ
อดีตสาวลูกจ้างร้านขนมไทยยุคปัจจุบัน ทะลุมิติไปอยู่ในร่างของ ฉวีจินเย่ สตรียากจนผู้ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งไว้กับน้องสาวอีกหนึ่งคน แต่โชคดีนักที่ปิ่นหยกที่เคยซื้อดันทะลุมากับนางด้วย แถมยังเป็นปิ่นหยกมิติขนมไทย ที่ภายในบรรจุอุปกรณ์และวัตถุดิบในการทำขนมไทยมากมาย นางจึงลงมือทำขนมไทยออกมาขายในยุคจีนโบราณที่ไม่มีใครรู้จักนี่แหละ รับรองว่าความแปลกใหม่และความอร่อยของมันจะต้องทำให้ทุกคนตะลึง!
เรื่องสุดท้ายนี้เป็นแนวจีนโบราณจริง แต่ขนมที่นางเอกทำในเรื่องดันเป็นขนมไทยน่ะซิคะ แต่ทุกคนอย่าได้งงกันไปค่ะ…พี่ปุ๋ยขอรับรองว่าถ้าขนมไทยในเรื่องนี้ก็น่ากินไม่แพ้กันเลย ใครได้อ่านต้องน้ำลายไหลแน่นอน!
อ่านนิยายและนี่ก็คือนิยายเด็กดีเกี่ยวกับขนมทั้ง 3 เรื่องที่พี่ปุ๋ยได้คัดมาให้ชาวเด็กดีได้อ่านกัน บอกเลยว่าแต่ละเรื่องนอกจากจะมีขนมอร่อยๆ ชวนน้ำลายสอแล้ว เนื้อเรื่องหรือปมต่างๆ ก็ยังเข้มข้นชวนติดตามอีกด้วย อ่านไปก็อาจจะทั้งหิวทั้งลุ้นกันเลยละค่ะ ใครที่อ่านบทความนี้แล้วรู้สึกหิวก็อย่าลืมหาอะไรอร่อยๆ กินกันด้วยน้า หรือจะลองหาขนมทั้ง 6 ชนิดที่พี่ปุ๋ยแนะนำไปในบทความมาลองชิมดูก็ได้ค่า :)
ที่มาของรูปภาพ :
https://www.douguo.com/cookbook/2336637.html
https://sites.google.com/a/samakkhi.ac.th/chinese-ancient-dessert-khnmcin-boran/
https://home.meishichina.com/recipe-562822.html
ที่มาของข้อมูล :
https://en.wikipedia.org/wiki/Shaobing
https://en.wikipedia.org/wiki/Mantou
https://en.wikipedia.org/wiki/Dragon%27s_beard_candy
https://studycli.org/chinese-holidays/chinese-valentines-day/
https://en.wikipedia.org/wiki/Osmanthus_cake
https://uchicagobite.com/blog/2020/11/5/food-folk-tales-the-osmanthus-cake
https://en.wikipedia.org/wiki/Tanghulu
0 ความคิดเห็น