“มาตาลดา” จากไดอารี่ถึงลูกสาว สู่ละครฟีลกู๊ดสุดปัง!
ณัฐณรา
- “พี่กิ่ง” นักเขียนเจ้าของนามปากกา ณัฐณรา ผู้เขียน มาตาลดา นิยายเด็กดีที่ติดอันดับหนึ่งทุกหมวด สู่ละครโทรทัศน์เรื่องดังที่ออกอากาศทางช่องสาม
- จุดเริ่มต้นของนิยายเรื่องนี้มาจากการปิดตัวลงของสำนักพิมพ์ที่พี่กิ่งเคยเขียนงานให้ เมื่อหลุดจากกรอบแนวนิยายของสำนักพิมพ์เดิม พี่กิ่งก็เริ่มมีความคิดว่าอยากเขียนนิยายอย่างอิสระ อยากเขียนนิยายที่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกที่สามารถให้อะไรกับลูกสาวทั้งสองคนได้
- เพราะพี่กิ่งเชื่อว่าครอบครัวคือส่วนสำคัญในการกำหนดว่าคนคนหนึ่งจะเติบโตไปในทิศทางไหน
- สู่การสร้างตัวตนของ “พ่อเกรซ” ที่ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากเพื่อนร่วมงานของพี่กิ่งที่เป็นเพศทางเลือก และใส่ความเป็นพ่อแม่ที่พี่กิ่งอยากให้มีในชีวิตจริงลงไป
* * * * *
สวัสดีค่ะ ช่วงนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักละครฟีลกู๊ดเอาใจสายฮีลอย่าง มาตาลดา กับเรื่องราวของ “มาตา” ที่ใครๆ ก็มองว่าเธอเป็นผู้หญิงเพี้ยนๆ ต๊องๆ แถมยังเกิดในครอบครัวที่มีปัญหา ทั้งที่จริงๆ แล้วเธอเติบโตมาได้อย่างดีมากๆ เลยนะคะ เพราะเธอได้รับความรักอย่างเต็มเปี่ยมจากพ่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ เชื่อว่าพอถึงฉากที่พ่อเกรซกับมาตาอยู่ด้วยกันทีไร ผู้ชมจะได้รับรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และซึ้งจนน้ำตาไหลกันแน่นอน
แอบเม้าท์ว่า มาตาลดา เคยเป็นนิยายติดอันหนึ่งทุกหมวดของนิยายเด็กดีมาก่อนด้วยค่ะ โดยเป็นผลงานของ ณัฐณรา หรือ พี่กิ่ง นักเขียนคนดัง ผู้เขียนนิยายมาแล้วกว่า 10 ปี! ฝากผลงานไว้บนเว็บเด็กดีมามากกว่า 60 เรื่อง!
พี่กิ่งเล่าว่าจุดเริ่มต้นในการเขียน มาตาลดา มาจากตอนนั้นสำนักพิมพ์ที่พี่กิ่งเขียนงานส่งประจำต้องปิดตัวลง ประกอบที่พี่กิ่งมีลูกสาวสองคน เลยอยากเขียนนิยายแนวอิสระที่ใส่ประเด็นของการเลี้ยงดูลูกและใส่ประเด็นความสมบูรณ์แบบที่ไม่สมบูรณ์แบบลงไป
เพราะพี่กิ่งเชื่อว่าครอบครัวคือกุญแจสำคัญที่สามารถกำหนดได้ว่าเด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไร จะทำสิ่งที่ถูกหรือผิด จะเป็นคนที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะหรือจะกลายเป็นคนที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากครอบครัวทั้งนั้น และถึงแม้ว่าพ่อแม่จะไม่เพอร์เฟกต์หรือเคยประสบกับเรื่องเลวร้ายมา มันก็ไม่ได้หมายความเขาจะเป็นพ่อแม่ที่ดีให้ลูกไม่ได้นั่นเองค่ะ
ถ้าพร้อมแล้วเราไปคุยกับพี่กิ่งกันดีกว่าค่ะ และเราเชื่อว่าทั้งนักอ่านและผู้ชม มาตาลดา จะต้องได้อะไรกลับไปไม่มากก็น้อยแน่นอนค่ะ
สวัสดีค่ะ ชื่อกิ่งนะคะ ชลธิดา ยาโนยะ หรือที่นักอ่านรู้จักในนามปากกา ณัฐณรา ค่ะ เป็นนักเขียนนิยายตัวกลมๆ ที่อยู่ชนบทชายแดนแม่สอดค่ะ
ตอนนี้กำลังมีความสุขมากๆ กับการได้ดูละครจากนิยายของตัวเองทางช่องสามค่ะ แล้วก็กำลังเตรียมเข็นนิยายเรื่องเล่าปรำปราออกมาเป็นรูปเล่มอยู่ค่ะ ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาคือไม่ได้อยู่ประเทศไทยเลย ไปหาข้อมูลเขียนงานที่เมืองแซฟฟรอนบูล สำหรับเขียนนิยายเรื่องใหม่ที่ดำเนินเรื่องในคัปปาโดเกียและแซฟฟรอนบูล ถือว่าเป็นทริปเก็บข้อมูลที่สาหัสอยู่เพราะขนไปทั้งบ้านและถือโอกาสพาคุณแม่ไปเที่ยวด้วย
ถ้าถามว่าตั้งแต่ที่เริ่มเขียนนิยายมาจนถึงตอนนี้ พี่เขียนมากี่เรื่องแล้ว บอกว่าจำไม่ได้จะเชื่อไหม? กระทั่งทุกวันนี้ให้นั่งนับยังตกหล่นเลยค่ะ น่าจะเกิน ห้าสิบหรือหกสิบเรื่องแล้วค่ะ แต่ก็เสียดายที่ช่วงหลังๆ สุขภาพไม่ดีบวกกับเราต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ร่างกายในฐานที่ทำงานเกินลิมิตมาหลายปี เลยทำให้ต้องพักผ่อนและซ่อมแซมตัวเองด้วย ส่วนผลงานเรื่องล่าสุดที่วางขายไปคือดอกฟ้ากับหมายักษ์ค่ะ และเรื่องที่กำลังจะตีพิมพ์คือ เรื่องเล่าปรำปราค่ะ
มาตาลดา : จากนิยายเด็กดีสู่ละครโทรทัศน์ชื่อดัง
พอย้อนกลับไปนึกถึงตอนที่มาตาลดายังเป็นนิยาย จำได้ว่าน่าจะเจ็ดหรือแปดปีแล้วเนอะ... ฟังดูแก่อ่ะ ... มาตาลดาเป็นนิยายรักที่เคยติดอันดับหนึ่งทุกหมวดของนิยายเด็กดีมาแล้วค่ะ มันยากมากนะสมัยนั้น เพราะนักเขียนเก่งๆ ลงนิยายในเด็กดีกันเยอะมาก ถ้าจำไม่ผิดสมัยนั้นมีคนติดตามเกินหมื่นคนค่ะ นับว่าเยอะมหาศาล (เมื่อแปดปีก่อนนะคะ)
ถ้าถามว่าเคยคิดไหมว่ามาตาลดาจะได้เป็นละคร คิดค่ะ คิดว่าน่าจะได้แหละ คิดทุกครั้งคิดทุกเรื่องในนิยายที่เขียน มันเป็นกำลังใจของคนเขียน ตั้งเป้าไว้ก่อน ไม่ได้ไม่เป็นไรนี่ แต่โชคดีที่มาตาลดาไปถึงจุดนั้น ได้เป็นละครจริงๆ ทุกวันนี้กิ่งก็ยังจำความรู้สึกตอนเห็นภาพฟิตติ้งได้ ว่าตัวเองมีความสุขมากแค่ไหน
ตั้งแต่วันที่รู้ว่า มาตาลดา กำลังจะได้เป็นละครจนถึงวันที่ออนแอร์นับนิ้วดูคร่าวๆ น่าจะเจ็ดถึงแปดปีมั้งคะ ไม่แน่ใจ อาจจะเพราะได้รับผลกระทบจากช่วงโควิดเข้ามาด้วยทำให้การถ่ายทำละครต้องชะงัก แต่คิดว่า ทุกอย่างมันมีเวลาของมัน ถ้ามาตาลาดามาก่อนหน้านี้สักสามปี บางทีผลตอบรับที่ได้อาจจะไม่ใช่แบบนี้ก็ได้ แล้วก็ในระหว่างเตรียมการถ่ายทำ นอกจากคอยขโมยรูปจากผู้จัดคุณจ๋าแล้ว ก็ไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้ทำเลยสักอย่าง เพราะเขามีทีมงานที่เก่งมาก มีประสบการณ์มากและมีความสามารถมากอยู่แล้ว อย่างเดียวที่ทำคือคอยกรี๊ดเวลาเห็นภาพที่ทางคุณจ๋าส่งมาให้ดูค่ะ
ตอนที่มาตาลดาฉายตอนแรก คือกิ่งกำลังเตรียมเดินทางไปตุรเคีย เลยได้ดูแค่อีพีเดียว พอวันต่อมาก็บินแล้ว แถมยังไม่ค่อยได้เล่นอินเทอร์เน็ตก็จะไม่รู้เลยว่ากระแสมันโอเคไหม คนดูชอบหรือเปล่า แต่พอได้รับข้อความจากน้องๆ พี่ๆ รวมทั้งนักอ่านว่าละครมีคนชอบนะ ติดเทรนด์ด้วย ก็มีความสุขมากค่ะ
นิยายที่อยากให้อยู่เคียงข้างลูกสาวและช่วยประคองใจเขาในวันที่เติบโต
ที่มาของมาตาลดา เกิดจากการที่สำนักพิมพ์ที่กิ่งเคยส่งงานประจำเขาปิดตัวลง ทีนี้เราก็มาเคว้งละ ว่าจะทำยังไงต่อ เปิดร้านอาหารดีไหม... แต่จากฝีมือครัวของตัวเองคิดว่าคงไม่รอด คนกินน่ะไม่รอดแน่
แล้วพอเราหลุดจากกรอบของสนพ.ที่มีแนวนิยายเป็นเอกลักษณ์ของเขา ต้องเขียนตามตลาดเขา เราก็เริ่มอยากเขียนนิยายแบบที่เราอยากเขียน เขียนอย่างอิสระ พอดีช่วงนั้นลูกสาวสองคนกำลังน่ารัก (ปัจจุบันก็... น่ารักอยู่บ้าง น่ารักแหละ...กล่อมตัวเองไว้) กิ่งอยากเขียนนิยายที่มันมีอะไรไว้ให้ลูก วันหนึ่งถ้าเขาโตมา ถ้าเขาเข้าสู่สังคมที่ไม่มีพ่อแม่คอยปกป้อง เขาจะได้ดูแลตัวเอง ซัพพอร์ตหัวใจตัวเองได้ และบางคำสอน กิ่งเองอาจจะทำไม่ได้ด้วยซ้ำ ยิ่งถ้าเด็กที่กำลังต่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น การเกิดในคนละเจนเนอเรชั่น มันจูนเข้าหากันยาก กิ่งเลยเขียนมาตาลดาขึ้นมาค่ะ ก็ร่างพล็อตอะไรไว้เรียบร้อย
บวกกับตอนนั้น พี่โป่ง คุณการบูร สุขวิไล ได้โทรมาหา แล้วถามว่าอยากลองเขียนงานนิยายกับเขาไหม มาคุยกันไหม ตอนนั้นตกใจมาก เพราะว่าเขาเป็นบรรณาธิการที่เก่งมาก และเราเคยได้ยินแต่ชื่อ ไม่เคยได้เจอตัวจริงเลย แต่เขาก็ยื่นโอกาสมาให้ กิ่งก็บินไปพบพี่เขาที่กรุงเทพ จำได้ว่าบินเที่ยวเช้า กลับเที่ยวเย็น และคุยงานกันที่ร้านกาแฟในสนามบินดอนเมือง
เขาไม่กำหนดว่ากิ่งต้องเขียนอะไร แต่ถามว่าอยากเขียนอะไร กิ่งเลยตอบไปว่าอยากเขียนนิยายที่แสดงถึงการเลี้ยงดูลูก ความสมบูรณ์แบบที่มันอาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ และการทำให้คนที่อ่าน ได้รับสารว่าความแตกต่าง การที่ใครคนหนึ่งแตกต่างจากเรา ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องเป็นคนไม่ดี คนเลว ไม่น่าคบหา ไม่อยากให้มีคนโดนตัดสินเพราะแค่ภาพลักษณ์หรือตัวตนของเขาต่างจากเรา และอยากสร้างนิยายที่จูนพ่อแม่กับลูก อยากสอนพ่อแม่ไปพร้อมกับสอนลูก ดูอวดรู้เนอะ สอนไปทุกสิ่ง แต่กิ่งเป็นมาแล้วทั้งลูกที่แหกกรอบออกมา และเป็นแม่ที่กลัวเหลือเกินว่าวันหนึ่งจะเป็นคนขีดกรอบครอบลูกตัวเอง ทั้งที่ตัวเองก็เกลียดและกดดันกับมันมากค่ะ
และที่นิยายเรื่องนี้ได้ไปทำเป็นละครก็เพราะทางผู้ใหญ่ของช่องสามและทางพี่โป่งได้มีโอกาสพูดคุยกันค่ะ ว่ามีนิยายที่ส่งเสริมเรื่องสถาบันครอบครัวอยู่นะ แล้วมันตอบโจทย์ที่ทางช่องต้องการ มาตาลดาเลยได้รับความเอ็นดูสู่ขอไปทำสัญญาเพื่อสร้างเป็นละครค่ะ ตอนที่รู้คือดีใจมาก อย่างน้อยเราก็รู้สึกว่า เออ ความฝันอย่างหนึ่งของเราประสบความสำเร็จแล้ว
เพราะครอบครัวเปรียบเหมือนเข็มทิศเรือนแรกที่มีส่วนชี้นำเส้นทางของลูก
สาเหตุที่ทำให้พี่เลือกใส่ประเด็นของการเลี้ยงดูลูกมาด้วยเพราะพี่คิดว่าครอบครัวคือสิ่งสำคัญในการกำหนดคนคนหนึ่งว่าโตมาเขาจะเป็นคนแบบไหน นิสัยยังไง และเดินไปในทิศทางไหน ถูกหรือผิดค่ะ
พี่เป็นคนติดครอบครัวนะ รักครอบครัวมาก และเคยเป็นลูกมาก่อนจะเป็นแม่ เรามีประสบการณ์ตรงมาเลยในเรื่องการเลี้ยงดูแบบครอบครัวของเป็นหนึ่ง แต่ว่าพี่เป็นที่โหล่นะ พี่ว่าเด็กสมัยนี้เขาไม่เหมือนเด็กสมัยก่อน ดังนั้นการสั่งสอนของพ่อแม่ในยุคก่อนมันเอามาใช้ไม่ได้แล้วล่ะ รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี อะไรเทือกนี้... มันไม่โอเคแล้ว
เพราะเด็กสมัยนี้เขาเติบโตมาพร้อมกับสังคมที่เปลี่ยนแปลง พ่อแม่ที่คิดว่า เออ ทีฉันยังโตมาได้กับไม้เรียว ต้องเข้าใจก่อนว่า มันคนละบริบทกันนะ และคนละคนกันด้วย นั่นลูก ไม่ใช่เรา เราเองตอนโดนตี แฮปปี้ไหม? ก็ไม่... มันมีวิธีอีกมากที่จะสอนลูกโดยไม่สั่ง หรือบังคับกัน
บางครั้งความรักของเรานี่แหละทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว และลูกก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเป็นความหวังดี
อยากให้นิยายเรื่องนี้พ่อแม่ลูกได้ดูด้วยกัน อยากให้มาตาลดาบอกในสิ่งที่ลูกอยากพูด และอยากให้มาตาลดาอธิบายในสิ่งที่พ่อแม่บางครอบครัวทำ รวมทั้งอยากให้มาตาลดาแสดงให้เห็นว่าค่านิยม ความคิด ความเชื่อ ที่ปลูกฝังไม่ว่าจะผ่านสื่อ ผ่านปากคน คำพูด คำนินทาที่คนโดนพูดถึงไม่มีโอกาสได้อธิบาย มันไม่ยุติธรรมสำหรับเขาเลย
ฝากบอกคนที่โดนตราหน้าโดยไม่มีโอกาสได้อธิบายเลยด้วยซ้ำว่า ไม่ว่าเรื่องที่เจอมันจะเลวร้ายแค่ไหน เดี๋ยวพอมันผ่านไป แล้วเรามองย้อนกลับมา เราจะรู้สึกว่า เออ ที่จริงมันก็ไม่ได้ใหญ่โตรุนแรงอะไรเลย ขอแค่เราเข้มแข็ง โอบกอดตัวเองไว้นะคะ คำพูดของคนที่ตั้งใจพูดเพื่อทำร้ายจิตใจเรา มันจะไม่มีผลอะไรกับเราเลย ถ้าใจเรารู้ว่ามันไม่ใช่ความจริง ความสุขของเราอย่าให้ขึ้นอยู่กับปากเขาค่ะ อย่าให้คนที่เขาไม่รักเรามามีอิทธิพลกับเรานะคะ
ฝากถึงพ่อและแม่ว่า การเลี้ยงลูกมันไม่ง่าย แต่การเป็นลูกที่ดีให้พ่อแม่ภูมิใจมันก็ยากเหมือนกันค่ะ อย่ามองลูกเป็นถ้วยรางวัลในการแข่งขันกับคนอื่น อย่าเปรียบเทียบด้อยค่าลูก การประสบความสำเร็จในชีวิตมันมีหลายรูปแบบ มันไม่ได้ตายตัวค่ะ การยอมรับความคิดเห็นกัน ปรึกษากัน ย่อมดีกว่ามาใช้คำว่า อาบน้ำร้อนมาก่อน เพราะยุคนี้มีเครื่องทำน้ำอุ่นแล้วค่ะ
และฝากถึงลูกว่า... บางครั้งพ่อแม่ก็แค่แสดงความรักออกมาผิดรูปแบบ และความหวังดีของเขาอาจจะทำร้ายเราโดยไม่รู้ตัว ขอโทษนะลูกนะ การเป็นพ่อแม่มันยาก แต่การเป็นพ่อแม่ที่ดียิ่งยากกว่ามาก
เกริกพล/เกรซ : “พ่อ” ที่ณัฐณราเขียนขึ้นมาจากใจ
เอาจริงๆ มาตาลดา แปลว่าเชื้อสายของแม่ ถ้าแปลตรงตัวนะคะ แต่สำหรับกิ่งที่คิดคำนี้ขึ้นมา กิ่งแทนความหมายมาตาลดาว่าลูกสาวที่รักของแม่
ทำไมต้องเป็นชื่อนี้ อย่างที่บอกว่ามันคือไดอารี่ที่กิ่งเขียนไว้ถึงลูกสาวของกิ่งทั้งสองคน และอีกอย่างกิ่งอยากเขียนสื่อถึงตัวพ่อเกรซ ว่าเขาเป็นพ่อที่มีความเป็นแม่อยู่ ลูกสาวของเขาจึงไม่เคยขาดอะไร เขาอาจจะเคยโดนทำร้าย แต่เขาไม่ถ่ายทอดมันให้ลูก เขาไม่เคยแทนตัวเองว่าแม่สักคำนะคะ ถ้าสังเกตทั้งในนิยายและละคร เพราะเขารู้ว่าเขาคือพ่อ
เขาเป็นพ่อที่สมบูรณ์แบบที่สุดของมาตาลดา ชดเชยความเป็นแม่ให้ลูกได้อย่างเต็มเปี่ยม และทำให้มาตาลดาเติบโตได้อย่างมีความสุข โดยไม่ต้องเป็นคนเก่ง ไม่ต้องพยายามแข่งขันกับใคร ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว มาตาลดาเนี่ยเกิดในครอบครัวที่มีปัญหามาก และต้องเจอปัญหานี้ตั้งแต่เด็กด้วยซ้ำกับคำว่าลูกตุ๊ด
ที่สำคัญเลย คือกิ่งมีเพื่อนที่ทำงานเป็นเพศทางเลือก และเขาเป็นคนดีมาก ดีมากๆ มีความรับผิดชอบมากกว่าลูกคนอื่นในครอบครัว ทำงานดี เราสัมผัสได้ว่าเขาเป็นคนดี
กิ่งเลยสร้างพ่อเกรซขึ้นมา กิ่งว่าถ้าเป็นคนดี ผู้ปกครองเป็นคนดี มีความรักความอบอุ่นความเข้าใจให้ลูก เขาก็สามารถสอนลูกให้เป็นคนดีได้ ถึงตัวเขาจะมีบาดแผล แต่เขาจะไม่ส่งต่อแผลนั้นให้ลูก ตรงกันข้าม เขาจะเป็นคนบอกวิธีการรักษามันให้ลูกเนิ่นๆด้วยซ้ำ
กิ่งเขียนเกริกพลโดยมีแรงบันดาลใจจากเพื่อนร่วมงานก็จริง แต่ตัวตนของพ่อเกรซ คือพ่อที่กิ่งอยากได้ อยากให้มีอยู่จริงๆ กิ่งเขียนเขาขึ้นมาจากใจเลย อะไรที่กิ่งทำไม่ได้ หรือพ่อแม่คนไหนทำไม่ได้ กิ่งอยากให้พ่อเกรซช่วยทำแทนให้ค่ะ อยากฝากลูกไปให้พ่อเกรซเลี้ยงแทนมาก พ่อเกรซคือพ่อที่ไม่คาดหวัง ไม่มองลูกเป็นถ้วยรางวัล เขาส่งเสริมและสนับสนุนลูก ไม่ละเลยแต่ก็ไม่เคยบังคับ มันยากนะ ที่จะทำได้แบบนี้เพราะการเลี้ยงลูกคนหนึ่งให้โตมาเป็นคนดี มีความสุข มันยากจริงๆ
บางบริบทต้องบอกว่าพ่อเกรซถ้าเคยเป็นพ่อที่ดีห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ทางผู้จัดและคนเขียนบท รวมทั้งนักแสดงทำให้พ่อเกรซเป็นพ่อที่ดีหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มค่ะ ขอบคุณมากๆ นะคะ ฝากขอบคุณผ่านช่องทางนี้ด้วย
“เป็นหนึ่ง” และ “มาตา” : แม้มาจากครอบครัวที่แตกต่าง… แต่เข้ากันได้อย่างลงตัว
ถ้าถามว่า ทำไมคนที่ได้รับการเลี้ยงดูที่ต่างกันมากๆ อย่างเป็นหนึ่ง และมาตา ถึงมาเติมเต็มกันได้ นั่นก็เพราะเขาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงค่ะ คนที่ทุกคนมองว่าขาดอย่างมาตาลดา กลับเป็นคนที่มาเติมเต็มให้คนที่ทุกคนมองแล้วตัดสินว่าสมบูรณ์แบบอย่างเป็นหนึ่ง มันเหมือนจิ๊กซอว์มาต่อในส่วนที่แหว่งไปให้เต็มขึ้นมา
ถามว่าคนเราต้องการอะไรมากที่สุดจากคนที่เรารัก หน้าตา? ความสามารถ? มันอาจจะเป็นแพสชั่นแต่มันไม่ใช่ความรักแน่นอนค่ะ เราต้องการคนที่เราอยู่ด้วยแล้วสบายใจ คนที่เขาทำให้เรายิ้มได้ในวันที่เราเศร้า คนที่เราสามารถอ่อนแอด้วยได้ และคนที่ทำให้เรามีความสุข คู่ชีวิตที่จะอยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิต เราต้องการคนแบบนั้นค่ะ และเป็นหนึ่งก็ได้พบมาตา อย่างที่ในเรื่องมี
คนอื่นคาดหวังความสำเร็จ ความเป็นที่หนึ่งจากเขา แต่มาตาไม่ได้คาดหวังเรื่องพวกนี้ มาตาแค่มองเป็นหนึ่งว่า เขาคือหนึ่งเดียวในใจไม่มีสอง แค่นั้นเอง แค่นั้นแหละที่คุณเป็นหนึ่งของเราต้องการ มาตาลดาเองก็ใช่ว่าจะเพอร์เฟกต์ ก็ต้องมีเป็นหนึ่งนี่แหละดึงๆ กลับมาบ้าง ถ้าเป็นหนึ่งคือสีขาว มาตาคงเป็นสีแดง ที่พอมารวมกันแล้วมันกลายเป็นสีชมพู มันอยู่ตรงกลางพอดี (เกี่ยวไหม ไม่เกี่ยว คนเขียนชอบสีชมพูเลยโยงเข้ามาแหละ)
สุดท้ายนี้…
อยากบอกว่าเรื่องนี้มีไอดอลที่พี่ชอบร่วมแสดงด้วย คนดูกรี๊ดดังแค่ไหน คนเขียนนิยายก็กรี๊ดดังเท่านั้นแหละค่ะ 555 กรี๊ดแบบคนนอกห้องสะดุ้ง
ประเด็นคือคีพลุคเป็นลูกสะใภ้ดูละครในบ้านแม่สามีไง แล้วแบบคุณอ้อม สุนิสาขึ้นหน้าจอมา คุณอ้อมนะ คุณอ้อม สุนิสาที่เราโตมากับเพลงเขา ละครและหนังที่พี่เขาเล่น คุณอ้อมคะ ... รักนะคะ รักมาก รักเสียงแหบนิดๆ ห้าวหน่อยๆ รักรอยยิ้ม คือมันคือที่สุดมาก ไม่รู้คุณอ้อมจะทราบไหม ว่านี่คือสวมอิมเมจคิตตี้ที่คลั่งคุณชนิดาแล้วหนึ่ง
ยิ่งตอนคุณหลุยส์ปั่นจักรยานมา เธอ... ตอนมัธยมนี่ต้องมีโปสเตอร์ติดในห้อง ต้องตัดหลังสมุดคอร์ดกีตาร์ติดซองใส่สแตมป์ไปขอรูปพี่เขาเลยนะ แล้วเขามาอยู่ในฉากมาตาลดาที่กิ่งเขียน ไม่ใช่แค่สองท่านนี้นะคะ เรื่องนี้แทบจะยกขบวนนักแสดงนักร้องที่กิ่งปลื้มมาหมดเลย แฮปปี้มาก
ส่วนฉากที่อยากให้รอคอยกัน ก็คือฉากที่มาตาทำมิชชั่นของนางสำเร็จ นองเลือดนิดหน่อยแต่รับรองว่า คนดูน้ำตานองแน่ นั่นเป็นฉากที่กิ่งร้องไห้มาแล้ว ถึงเวลาพวกเธอต้องร้องไห้ให้เราบ้างแล้วล่ะ แล้วก็ฉากที่เป็นหนึ่งเริ่มเป็นทาส… เป็นทาสรักมาตา มารอดูคุณหมอเย็นชาคลั่งรักกันนะคะ เขาก็ร้ายลึกอยู่นา
สุดท้ายนี้ก็ขอฝากมาตาลดาด้วยนะคะ ทั้งนิยายและละคร ผลงานเรื่องอื่นๆ ก็เชิญเลือกอ่านได้ตามอัธยาศัย เพราะเขียนไว้หลายแนว อ่านตัวอย่างก่อนกดซื้ออีบุ๊คนะคะ จะได้ไม่ผิดหวัง เพราะกิ่งเขียนหลายแนวมาก บางท่านอาจจะตกใจ ว่าใช่คนเขียนคนเดียวกันไหม ขอบคุณที่สนับสนุนกันมา และขอโทษที่เคยทำอะไรผิดพลาดนะคะ
* * * * *
มาตาลดา เป็นนิยายที่อ่านครั้งแรกก็สัมผัสได้เลยว่าพี่กิ่งเขียนออกมาจากใจจริงๆ ค่ะ ทั้งการแฝงข้อคิดเรื่องครอบครัวที่พี่เห็นด้วยมากๆ กับคำพูดที่ว่า “บางครั้งความรักของเรา(พ่อแม่)นี่แหละทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว และลูกก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเป็นความหวังดี” เพราะครอบครัวคือด่านแรกที่ลูกต้องเจอ สิ่งต่างๆ ที่พ่อแม่ทำไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ลูกก็สามารถรับรู้และซึมซับเข้าไปได้ทั้งนั้น อีกอย่างที่ชอบมากๆ ก็คือตัวละครของ “พ่อเกรซ” คนที่เต็มไปด้วยบาดแผล ทั้งบาดแผลทางกายรวมไปถึงบาดแผลทางใจ แต่แผลนั้นก็ไม่ได้ขัดขวางเขาในการส่งมอบพลังบวกให้กับมาตาและคนอื่นๆ เลย จนไม่แปลกใจเลยค่ะว่าทำไมมาตาถึงเติบโตมาได้ดีขนาดนี้
ใครที่อ่านบทสัมภาษณ์จบแล้วก็อย่าลืมไปติดตามอ่านนิยายและดูละครเรื่อง มาตาลดา กันต่อนะคะ แล้วก็ยังมีนิยายของตัวละครที่ถูกพูดถึงในเรื่องที่พี่กิ่งเขียนแยกออกมาอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “ภูเมฆ” น้องชายต่างพ่อของมาตา หรือจะเป็นเรื่องของ “ไตรฉัตร” ลูกพี่ลูกน้องของเป็นหนึ่ง บอกเลยว่าห้ามพลาด!
สำหรับวันนี้พี่เอมก็ขอลาไปก่อน ขอบคุณและสวัสดีค่ะ :)
เริ่มเขียนนิยายพี่เอม
อ่านผลงานของ ณัฐณรา
0 ความคิดเห็น